6 องค์กรผนึก ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เชื่อมระบบการบริการด้านสาธารณสุข ยกระดับงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมวชิรเวช อาคารมหิตลาธิเบศร แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข สภาเภสัชกรรม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง การพัฒนาระบบบริการด้านเภสัชกรรมโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริการด้านสาธารณสุข ระหว่าง 6 องค์กร ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สภาเภสัชกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน โดยมี ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รศ. พิเศษ ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ภก.ธีรวุฒิ พงศ์เศรษฐไพศาล ประธานมูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน ร่วมลงนาม
รศ.พิเศษ ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 6 องค์กรในครั้งนี้ เพื่อดำเนินงานความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และระบบบริการต่าง ๆ ในการสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การลดความแออัด การเชื่อมต่อและส่งต่อผู้ป่วย เพื่อให้เกิดระบบเครือข่ายของการดูแลประชาชนตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ (ร้านยา) จนถึงระดับตติยภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้จะมีการดำเนินงานความร่วมมือในการใช้เทคโนโลยี เพื่อการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างบริการเภสัชกรรมกับทุกฝ่าย ตลอดจนร่วมมือกันเพื่อให้เกิดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ของระบบบริการสาธารณสุขที่ทันสมัยอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยเฉพาะการสร้างบทบาทด้านนวัตกรรมบริการสาธารณสุขเพื่อประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีภารกิจและเป้าหมายหลักมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญดำเนินงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างฐานรากสำคัญด้านเทคโนโลยีของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ สวทช. ได้ตระหนักอย่างยิ่งถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีระบบบริการด้านเภสัชกรรมและด้านการสาธารณสุข ที่มาประยุกต์ใช้ในการดูแลประชาชนและผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ จึงสนับสนุนเทคโนโลยีในการพัฒนาระบบการให้บริการด้านเภสัชกรรมและนวัตกรรมบริการด้านสาธารณสุข รวมทั้งการให้ข้อมูลความต้องการระหว่างกันเพื่อพัฒนาระบบบริการดังกล่าว เพื่อให้หน่วยบริการสามารถนำเทคโนโลยีพัฒนาระบบการให้บริการทั้งด้านเภสัชกรรมและนวัตกรรมบริการด้านการสาธารณสุขไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง
“สวทช. พร้อมที่ให้การสนับสนุนบุคลากร ทรัพยากร ภายใต้กรอบพันธกิจของหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและใช้เทคโนโลยี ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาและการใช้งานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ในการขับเคลื่อน การให้บริการด้านเภสัชกรรมและด้านการสาธารณสุขของประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพ มีความทันสมัย ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เกิดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของระบบบริการสาธารณสุขที่ทันสมัย เพื่อการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยขยายผลการใช้งานในวงกว้างเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ทั่วถึงและเท่าเทียมต่อไป”
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 6 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การป้องกันและรักษาโรค โดยใช้ระบบเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดระบบเครือข่ายการเชื่อมต่อและส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิคือร้านยา ไปจนถึงระดับตติยภูมิคือโรงพยาบาล ที่มุ่งเน้นการป้องกันและรักษาโรคที่เกิดจากยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากคนสูบบุหรี่ แม้สูบไม่ทุกวัน จะมีความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 แต่ละปีคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่กว่า 80,000 คน หรือร้อยละ 18ของการเสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองกว่า 6,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 352,000ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ สสส. มีเครือข่ายร้านยาพาเลิกบุหรี่ 386 ร้านทั่วประเทศ และพัฒนาระบบบริการเภสัชกรรมทางไกลที่ประชาชนเข้าถึงบริการทั่วประเทศ ที่พร้อมจะสนับสนุนความร่วมมือการสร้างเสริมสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกบุหรี่ สุรา และการจัดการปัญหาการใช้ยา เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะดี ปลอดภัยจากควันบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อย่างไรก็ตามทั้ง 6 ฝ่ายพร้อมร่วมมือกันพัฒนาแนวทางและการดำเนินงานในทุก ๆ ด้าน ของการให้บริการเภสัชกรรม การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การลดความแออัดในหน่วยบริการ การเชื่อมต่อส่งต่อผู้ป่วยรวมถึงนวัตกรรมบริการใหม่ ๆ รวมทั้งการพัฒนาระบบข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งเป็นความยั่งยืนของระบบการให้บริการด้านเภสัชกรรม