GISTDA ผุด Dragonfly แพลตฟอร์มดิจิทัลทางการเกษตร หวังลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรไทย
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Dragonfly แพลตฟอร์มเกษตรเชิงพื้นที่รายแปลง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก” โดยมุ่งเน้นสร้างการรับรู้และขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเกษตรเชิงพื้นที่รายแปลงรวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่รายแปลงเพาะปลูกข้าวได้อย่างเหมาะสมและเป็นระบบ โดยมีคุณกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ GISTDA เป็นประธานในพิธีเปิด ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น โฮเทล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566
ดร.สยาม ลววิโรจน์วงค์ โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า GISTDA มีความตั้งใจที่จะนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาบูรณาการให้เกิดการใช้ประโยชน์กับประเทศไทยให้มากที่สุด โดยเฉพาะในภาคการเกษตร เทคโนโลยีจากดาวเทียมสามารถสร้างความสัมพันธ์ทั้งเชิงพื้นที่ เชิงเวลา และสร้างสัมพันธภาพกับเกษตรกร ผ่านแพลตฟอร์มเกษตรเชิงพื้นที่รายแปลงที่ชื่อว่า “Dragonfly” ซึ่งออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ทุกปัญหาของเกษตรกรในระดับรายแปลงที่แม่นยำ และทันสมัย ช่วยให้เกษตรกรสามารถติดตาม เฝ้าระวัง และคาดการณ์ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผนและบริหารจัดการแปลงเพาะปลูกได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งขายผลผลิต “Dragonfly” หรือ “แอปแมลงปอ” นอกจากเข้าถึงง่าย ใช้งานได้สะดวกแล้ว ยังติดตามและเฝ้าระวังความสมบูรณ์ของพืชได้ทุกสัปดาห์ ไม่ให้พืชเสียหายหนักจนเกินแก้ไข พร้อมแจ้งเตือนการเฝ้าระวัง สภาพอากาศ บอกพื้นที่น้ำท่วม ภัยแล้งในแปลงและข้างเคียงได้ บอกราคารับซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นปัจจุบัน แนะนำการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าวที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี รวมถึงมีเครื่องมือช่วยให้เกษตรกรจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย และผลผลิตในแต่ละวงรอบการเพาะปลูกได้ด้วย
ในด้านการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้ ในระยะยาวและยั่งยืนจำเป็นต้องมีความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน เพื่อการขยายผลต่อไปแบบก้าวหน้า ทั้งด้านข้อมูล เทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย ทั้งหมดก็เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคการเกษตรของไทยให้มีสมรรถนะสูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในอนาคตอันใกล้นี้ช่วงต้นเดือนตุลาคมประเทศไทยกำลังนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 ก็จะเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญและเสริมศักยภาพต่อการวางแผนและพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการจัดการน้ำ ภัยพิบัติ ภาคการเกษตร ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการผังเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ตลอดจนด้านความมั่นคงของประเทศต่อไป