“ขับเคลื่อนงานวิจัย เพื่อรองรับสังคมสูงวัย” ใน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566”

“ขับเคลื่อนงานวิจัย เพื่อรองรับสังคมสูงวัย” ใน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566”

วันที่ 8 สิงหาคม 2566 ที่ห้องประชุมโลตัส 3-4 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ภายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” (Thailand Research Expo 2023) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “ขับเคลื่อนงานวิจัย เพื่อรองรับสังคมสูงวัย” ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการนำไปสู่การใช้ประโยชน์ เกิดการเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ และผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศาสตราจารย์ พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธี สุรีย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมการศึกษา วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ ระพีพรรณ คำหอม ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ด้านสังคมสูงวัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคุณศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้อำนวยการ ภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านการรองรับสังคมสูงวัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมี ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

ศาสตราจารย์ พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพชุมชนวิสาหกิจด้านการบริบาลผู้สูงอายุว่า เริ่มทำงานดังกล่าวด้วยเพราะเห็นถึงความทุกข์ทางใจของผู้สูงอายุที่ถูกทิ้งไว้ในบ้านพักคนชรา และต้องโดดเดี่ยวเดียวดายในบั้นปลายของชีวิต จึงเกิดแนวคิด “นำผู้สูงอายุกลับบ้าน” โดยการช่วยกันสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุวิถีไทย ที่ทำให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าในชุมชนท่ามกลางครอบครัว ญาติมิตรและเพื่อนบ้าน เป็นพลังสร้างสรรค์ของชุมชน มีระบบดูแลยามเวลาไม่ป่วยไข้ และมีระบบส่งต่อสู่สถานพยาบาลยามเจ็บป่วย ดังนั้น ทีมวิจัยจึงร่วมกันสร้าง “นักบริบาลผู้สูงอายุมืออาชีพ” ที่ดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือ สามารถรวมกลุ่มกันทำงาน เพื่อสร้างเศรษฐกิจในชุมชนที่อยู่ได้อย่างเข้มแข็ง

“จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล พบว่า มีผู้สูงอายุเพียง 20% เท่านั้นที่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ อีกประมาณ 80% ได้รับการดูแลจากคนในครอบครัวหรือชุมชน ซึ่งด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ โครงการที่ทำอยู่จะไม่เข้าไปอยู่ภายใต้ข้อผูกมัดหรือกฎเกณฑ์ของภาครัฐหรืออยู่ภายใต้ภาคเอกชนที่ถูกขับเคลื่อนด้วยงบประมาณ แต่จะมุ่งเน้นการสร้างอาชีพด้วยภาคประชาสังคม ให้มีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีตัวอย่างชุมชนที่นำหลักสูตรการสร้างนักบริบาลผู้สูงอายุมืออาชีพ ไปดำเนินการแล้ว เช่น ที่แม่มอกหลั่นล้าอีโคโนมี้ วิสาหกิจชุมชนน่านกระซิบรัก วิสาหกิจชุมชนแม่จันหลั่นล้าอีโคโนมี้”

ในส่วนของการสร้างบุคลากรสำหรับดูแลผู้สูงอายุและสร้างเสริมสุขภาพของผู้ผู้สูงอายุให้ดียิ่งขึ้นนั้น ปัจจุบันเราได้บทเรียน ได้องค์ความรู้ และได้เครื่องมือ มีการทดลอง หาประสบการณ์ ซึ่งในปีนี้ทีมวิจัยพร้อมที่จะขยายผลออกไป โดยดำเนินการขับเคลื่อนขบวนการดูแลผู้สูงอายุวิถีไทยให้เป็นนโยบายของประเทศ ซึ่งจะนำร่องทำงานในระดับภูมิภาคและระดับจังหวัดเพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนที่เพียงพอ

นพ.ภูษิต ประคองสาย กล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้านโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า จากการทำงานกับ วช. มาเกือบ10 ปี พบว่า เรามีการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมมากมาย แต่สิ่งที่ยังขาดคือ การนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะทำให้เกิดความมีส่วนร่วมและเกิดความยั่งยืน ทีมวิจัยจึงมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่า สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาได้จริงผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยดำเนินงานผ่าน 6 ทีมวิจัยย่อยในแต่ละพื้นที่ ที่สามารถเลือกนำเครื่องมือต่าง ๆ ไปใช้งานได้ตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ดีมองว่าปัจจุบันหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น มีความสนใจในงานด้านการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของนักวิจัยที่จะพิสูจน์ให้หน่วยงานเหล่านี้เห็นถึงประโยชน์ของงานวิจัย ที่จะช่วยส่งเสริมบทบาทของการเป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่สมบูรณ์แบบมากกว่าการออกกฎ ระเบียบให้หน่วยงานปฏิบัติ

รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธี สุรีย์ กล่าวถึง นวัตกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัยว่า 1 ในเป้าหมายของการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือ กลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งมีการเรียนรู้ต่างจากเด็ก ๆ ซึ่ง มช.ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ในการทำโครงการ “มีดี” ซึ่งหมายถึง ระบบนิเวศของการสร้างการเรียนรู้ และนำการเรียนรู้ไปสร้างประโยชน์ในการสร้างรายได้ เพื่อลดภาระพึ่งพิงของตนเองในครอบครัว ซึ่งปัจจุบัน “การขาดการเรียนรู้และขาดรายได้” ถือเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมผู้สูงวัย และอนาคตยังจะเจอปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเข้ามาคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมการมีบุตรดังนั้นกลุ่มที่จะเป็นผู้สูงวัยในอนาคตต้องเลี้ยงตนเอง

แนวคิดโครงการ ฯ จึงมุ่งสู่ความสุขที่ยั่งยืน โดยการพัฒนาศักยภาพเพิ่มเติม สร้างหลักสูตร สร้างทักษะและมีการพัฒนาอาชีพ “มีดี” จะทำวัยเกษียณให้เป็นวัยสร้างสรรค์ โดยเป็นแพลตฟอร์มให้กับผู้สูงวัยได้เรียนรู้ตลอดชีวิต ปัจจุบันโครงการฯ มีการถอดบทเรียน และร่วมกับพันธมิตร 79 หน่วยงาน ใน 77 จังหวัด ขยายพื้นที่จาก จ.เชียงใหม่ ที่เป็นแซนด์บอกซ์ ไปสู่ 17 จังหวัดในภาคเหนือ ก่อนกระจายไปสู่ทั่วประเทศ

สำหรับเป้าหมายและแนวทางในการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสังคมสูงวัย ศาสตราจารย์ ระพีพรรณ คำหอม กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเป้าหมายสำคัญของการมาอยู่หลังเกษียณของชาวต่างประเทศ เพราะมีระบบการแพทย์ที่ดี มีสังคมที่น่าอยู่และมีค่าครองชีพที่ไม่แพงจนเกินไป ขณะเดียวกันประเทศไทยใน 10 ปีข้างหน้า ก็มีความท้าทายอย่างมากใน 4 วิกฤติการณ์ที่จะเกิดขึ้นคือ เรื่องของการขาดแคลนแรงงาน การบริโภคที่เปลี่ยนไป ธุรกิจแบบเดิม ๆ ที่เติบโตได้ยาก นอกจากนี้สังคมไทยเป็นผู้ใช้นวัตกรรมแต่ไม่ใช่ผู้สร้าง และเกิดสถานการณ์ “แก่ก่อนรวย” ซึ่งแนวโน้มคนไทยที่มีอายุยืนจะมีมากขึ้น

ปัจจุบันถือว่าเป็นเวลาที่ดีที่ทุกภาคส่วนมีการบูรณาการกันมากขึ้น ซึ่งโจทย์ของ วช. ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยในแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2580) นั้นมีเรื่องของการเตรียมความพร้อมของประชากรก่อนวัยสูงอายุ การยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สุงวัยอย่างทั่วถึง การปฏิรูปและบูรณาการระบบบริการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย และมีการเพิ่มศักยภาพการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งสำคัญมาก ทั้งนี้การทำงานวิจัยเรื่องผู้สูงวัย อยากให้มองไปในระยะยาวมากขึ้น ซึ่งเรื่องของทุนไม่ใช่ปัญหา

คุณศิรินทร์พร เดียวตระกูล กล่าวถึงก้าวต่อไปของงานวิจัยด้านการรองรับสังคมสูงวัยว่า จากแผนด้าน ววน. พ.ศ. 2566-2570 ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการนำ ววน. มาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม โดยในแผนงานด้านการพัฒนานวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัย จะอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 ในเรื่องของการยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสามารถที่จะแก้ปัญหาและปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วโดยใช้ ววน.

จากการดำเนินงานทางด้านการรับรองสังคมสูงวัย เป็นเรื่องที่ วช. ให้การสนับสนุนเช่นเดียวกัน ในปีงบประมาณ 2567 ด้านการพัฒนาผู้สูงอายุทั้งในภาคเมืองและชนบทให้มีศักยภาพและมีคุณค่า พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะมีนวัตกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีพลังและมีประโยชน์รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ทั้งนี้แนวทางในการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสังคมสูงวัยที่ตอบโจทย์ท้าทายของสังคมไทย จะต้องมีการบูรณาการนโยบาย ระบบ และกลไก การบริหารระบบวิจัยเชิงกลยุทธ์ และการมุ่งเป้าความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า