วว.-สอวช. ร่วมหารือภาคเอกชนจีน ศึกษาแนวทางการพัฒนา E-Commercial and Innovation Park
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม และผู้บริหาร วว. ร่วมประชุมหารือในโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนา E-Commercial and Innovation Park (ECIP) กับ ดร.กิติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ผู้แทนภาคเอกชนจากประเทศจีน ได้แก่ CECC-CBEC, Beijing Talent International Exhibition Co.,Ltd., Jinhua Xingbu Tech Co.,Ltd., CompAsia Ltd. และทีมงานผู้ดำเนินโครงการ ECIP ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และสมาคมการค้าดิจิทัลไทย เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคาร Admin วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี
ประเด็นการหารือครั้งนี้ประกอบด้วย
1) ความพร้อมของ วว. ที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ จากโครงสร้างพื้นฐานและกลไกสนับสนุนปัจจุบันที่สามารถเริ่มต้นดำเนินการได้และสิ่งที่ต้องการการลงทุนเพิ่ม
2) กลไกการสนับสนุนผู้ประกอบการภายใน SMEs Innovation Park
3) กลไกการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในเทคโนธานี
4) แผนธุรกิจและแนวทางการหารายได้
5) ความร่วมมือกับ มทร.ธัญบุรี ในการนำนักศึกษาเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงาน
6) การคัดเลือกสินค้าที่มีศักยภาพ (Product Champion)
โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนา ECIP เป็นการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์หรือโรงงานต้นแบบในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการเจาะตลาด (online & offline) และการพัฒนาและผลิตสินค้าสำหรับการค้าขายภายในประเทศและการส่งออกครบวงจร โดยปัจจุบันในพื้นที่ 15 จังหวัด มี 21 อุทยานวิทยาศาสตร์และโรงงานต้นแบบระดับกึ่งอุตสาหกรรม แบ่งเป็นด้านเกษตรอาหาร 17 แห่ง ด้านพลังงานและวัสดุชีวภาพ 2 แห่ง และด้านสุขภาพและการแพทย์ 2 แห่ง
นอกจากนี้คณะที่เข้าร่วมการประชุมได้เยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ฯ ของ วว. ได้แก่ ศูนย์บริการนวัตกรรมเวชสำอางแบบครบวงจร (ICOS) โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (การสกัดสารสมุนไพร) และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประยุกต์สู่ SMEs ซึ่งมีศักยภาพช่วยส่งเสริม สนับสนุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และชุมชนอย่างยั่งยืนในรูปแบบของระบบนิเวศนวัตกรรม