สดร. จับมือ ททท. ดันการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ต่อเนื่อง ปักหมุด 18 พื้นที่ดูดาวแห่งใหม่ พร้อมประกาศขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย 2566
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยคุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สดร. เปิดตัวโครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND Season 2 ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ต่อเนื่อง เผยลิสต์ 18 พื้นที่ ดูดาวแห่งใหม่ทั่วประเทศ พร้อมมอบโล่ประกาศแก่พื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ปลุกกระแสการเดินทางมิติใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสความงดงามของธรรมชาติยามค่ำคืน ณ ห้องประชุมจารุวัสตร์ ชั้น 10 อาคาร ททท. กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566
คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการ “AMAZING DARK SKY IN THAILAND Season 2” เป็นโครงการส่งเสริมการตลาดต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือ ททท. และ สดร. มุ่งสนับสนุนรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience-based-Tourism) โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ (Dark Sky Tourism) ให้เป็นหนึ่งในสินค้าการท่องเที่ยวที่สามารถส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวมิติใหม่ สร้างความหมายให้การเดินทางท่องเที่ยวในเมืองไทยมีคุณค่า แตกต่าง และน่าประทับใจมากกว่าที่เคย ทั้งยังสะท้อนศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวไทยในการนำเสนอกิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความสนใจของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มได้อย่างครอบคลุม สอดรับกับแนวทางการขับเคลื่อนปีท่องเที่ยวไทย 2566
ภายใต้โครงการนี้ ททท. จะชวนนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีความสนใจพิเศษ ผู้ที่สนใจดาราศาสตร์ ชื่นชอบการดูดาว และนักท่องเที่ยวทั่วไปเดินทางออกไปสร้างความสุขท่ามกลางธรรมชาติ สัมผัสความสวยงามของท้องฟ้าประเทศไทย ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ กลุ่มดาว และดวงดาวต่าง ๆ ที่ปรากฏบนท้องฟ้าแต่ละเดือน นอกจากนี้ยังจะได้สนุกสนานไปกับกิจกรรมสอดแทรกความรู้ทางดาราศาสตร์ ตลอดจนเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดนั้น ๆ ด้วย
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สดร. ร่วมกับ ททท. ดำเนินโครงการ Dark Sky in Thailand หรือเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2563 จนกระทั่งในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้จัดพิธีมอบโล่และขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยขึ้นเป็นปีแรก ภายใต้แคมเปญ “Amazing Dark Sky in Thailand” มีสถานที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียน จำนวน 12 แห่ง ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนรวม 3 ปี ถือเป็นพื้นที่นำร่องที่ปลุกกระแสการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ ใช้เป็นจุดขายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และเป็นสถานที่ถ่ายภาพสำหรับกลุ่มนักดาราศาสตร์สมัครเล่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาเกิดกิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์กว่า 150 ครั้ง มีผู้สนใจเข้าร่วมไม่ต่ำกว่าแสนคน
นอกจากนี้ สดร. ยังร่วมกับสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด จัดกิจกรรมดาราศาสตร์ เช่น “โต้ลมห่มหนาว นอนนับฝนดาวตกเจมินิดส์” ณ อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ต. ออนใต้ อ. สันกำแพง จ. เชียงใหม่ เมื่อเดือนธันวาคม 2565 “Dark Sky Star Party ที่ผาแต้ม” ณ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ. อุบลราชธานี เมื่อเดือนมีนาคม 2566 เป็นต้น ภายในงานมีกิจกรรม อาทิ บรรยายการดูดาวเบื้องต้น แนะนำวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ ดูดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ ฯลฯ ซึ่งผลตอบรับดีมาก มีประชาชนในพื้นที่ และใกล้เคียงรวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกระแสตอบรับการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปีนี้มีสถานที่จากทั่วประเทศ สมัครขอรับการขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2566 จำนวน 26 แห่ง ผ่านการพิจารณาจำนวนทั้งสิ้น 18 แห่ง จึงขอแสดงความยินดีกับทุกแห่งที่ผ่านการคัดเลือก และได้รับการขึ้นทะเบียนในปีนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นให้พื้นที่ และชุมชนใกล้เคียง รวมถึงในอีกหลายแห่งทั่วประเทศไทยเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ร่วมกันสงวนรักษาความมืดของท้องฟ้าเวลายามค่ำคืน ให้เหมาะกับการเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ และเชิงดาราศาสตร์ อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบจากมลภาวะทางแสงที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงลดการสิ้นเปลืองพลังงานอีกด้วย ซึ่งในอนาคต สดร. ตั้งเป้าผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
สำหรับเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ อุทยานท้องฟ้ามืด ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล และเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง สถานที่ที่ขึ้นทะเบียนแต่ละประเภทจะต้องมีความมืดของท้องฟ้าที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการแสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากแสงรบกวน มีพื้นที่เปิดโล่งสังเกตท้องฟ้าได้โดยรอบ มองเห็นดาวเหนือ และวัตถุท้องฟ้าเด่น ๆ ได้ด้วยตาเปล่า มีบุคลากรในพื้นที่ที่สามารถให้ความรู้ทางดาราศาสตร์เบื้องต้นแก่นักท่องเที่ยวได้ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่ผู้มาใช้บริการ เช่น เส้นทางคมนาคม ห้องน้ำ ที่พัก ร้านอาหาร เป็นต้น
ผลการขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ปี 2566 ภายใต้โครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND Season 2 มีจำนวนทั้งสิ้น 18 แห่ง ดังนี้
อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) จำนวน 5 แห่ง ได้แก่
- อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (ลานชมดาว) จ. กำแพงเพชร
- อุทยานแห่งชาติตาพระยา (ลานกลางเต้นท์กลางดง) จ. สระแก้ว
- อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ. นครราชสีมา
- อุทยานแห่งชาติศรีน่าน (ดอยเสมอดาว) จ. น่าน
- วนอุทยานน้ำตกผาหลวง จ. อุบลราชธานี
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) จำนวน 11 แห่ง ได้แก่
- มีลา การ์เดน รีทรีท คอทเทจรีสอร์ท จ. สระบุรี
- คีรีมาลา อีโค่ แคมป์ จ. ราชบุรี
- ฟาร์มแสงสุข จ. ระยอง
- ไร่เขาน้อยสุวณา จ. นครราชสีมา
- ต้นข้าวหอมบ้านอ้อมดอย จ. เชียงใหม่
- วิลลา เดอ วิว บูทีค รีสอร์ท เชียงดาว จ. เชียงใหม่
- เชียงดาวฟาร์มสเตย์ จ. เชียงใหม่
- บ้านสวน ป่าโป่งดอย จ. เชียงใหม่
- เดอะ ทีค รีสอร์ท จ. เชียงใหม่
- พูโตะ จ. เชียงใหม่
- อ่าวโต๊ะหลี จ. พังงา
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่
- สวนสัตว์ขอนแก่น จ. ขอนแก่น
- ซัมมิท กรีนวัลเล่ย์ เชียงใหม่ จ. เชียงใหม่
ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติม และสมัครเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยได้ที่ https://darksky.narit.or.th/ และสำหรับนักท่องเที่ยว ดาวน์โหลดหนังสือแนะนำการดูดาวเบื้องต้นในรูปแบบ e-book ได้ที่ https://bit.ly/3NXk2cG