‘ทีมกาแล็กติก 4’ คว้ารางวัลชนะเลิศ ‘คิโบะ โรบ็อต โปรแกรมมิง ชาเลนจ์ ครั้งที่ 4’ เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันชิงแชมป์ระดับนานาชาติ ตุลาคมนี้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (แจ็กซา) (Japan Aerospace Exploration Agency : JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร ประกาศผลการแข่งขัน “โครงการ The 4th Kibo Robot Programming Challenge” เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 โดยทีมกาแล็กติก 4 (Galactic 4) คว้ารางวัลชนะเลิศของการแข่งขัน ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติผ่านทางออนไลน์ ในภารกิจแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศแอสโตรบี (Astrobee) ที่ปฏิบัติงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station : ISS) ให้ปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย โดยจะถ่ายทอดสดจากศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนตุลาคม 2566
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สวทช. ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ บริษัท เดลว์ แอโรสเปซ จำกัด และบริษัท เอ็นบีสเปซ จำกัด ร่วมกันจัดแข่งขันโครงการ The 4th Kibo Robot Programming Challenge เพื่อพัฒนาขีดความรู้ความสามารถด้านสเต็มศึกษาของเยาวชนไทย ซึ่ง สวทช. เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยใช้ภารกิจการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระบบจำลองหรือ Simulation ควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ Astrobee เพื่อแก้ไขสถานการณ์แอมโมเนียรั่วไหลภายในสถานีอวกาศ โดยคัดเลือกผู้ชนะเพียง 1 ทีม ที่ทำคะแนนได้ดีที่สุดจาก 182 ทีม ทั่วประเทศที่สมัครเข้าร่วมโครงการ เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติต่อไป
“ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีมกาแล็กติก4 (Galactic4) จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีสมาชิก 4 คน ประกอบด้วย คุณณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ คุณเดชาธร ดาศรี คุณกษิดิศ ศานต์รักษ์ และคุณชีวานนท์ ชุลีคร ทั้งหมดเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติ ในรายการ The 4th Kibo Robot Programming Challenge ร่วมกับตัวแทนเยาวชนอีก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนปาล นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2566”
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมสเปซเพนกวิน (Space Penguin) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมจีดับเบิลยูอาร์ทีม (GWR Team) จากสถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และรางวัลทีมนำเสนอดีเด่น ได้แก่ ทีมยูเมะ (Yume) จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม)
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช. กล่าวเสริมว่า ในปีนี้มีเยาวชนสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 182 ทีม เป็นจำนวนที่สูงมากที่สุดในบรรดาประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความสนใจของเยาวชนไทยที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเข้าร่วมกิจกรรม โดยแบ่งออกเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 18 ทีม ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 130 ทีม ระดับมหาวิทยาลัย จำนวน 34 ทีม ซึ่งประสบการณ์จากการเขียนโปรแกรมครั้งนี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันได้พัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ อย่างบูรณาการ ทั้งคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และยังได้พัฒนาทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 อาทิ การคิดวิเคราะห์และการทำงานร่วมกันเป็นทีม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้และประสบการณ์ที่เยาวชนได้รับจากการแข่งขันครั้งนี้ จะมีส่วนส่งเสริมต่อยอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพมาช่วยพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต
คุณทาเคฮิโระ นากามูระ (Takehiro Nakamura) ผู้อำนวยการ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวชื่นชมและแสดงความยินดีแก่เยาวชนไทยผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้ง 182 ทีมว่า “รู้สึกประทับใจในการตอบรับการเข้าร่วมการแข่งขันจากทุกทีมเป็นอย่างยิ่ง ตลอดระยะเวลาหลายเดือนของการพัฒนาโปรแกรมเพื่อการแข่งขันได้เห็นถึงความตั้งใจของทุก ๆ ทีม ในการจะพัฒนาโค้ดเพื่อเอาชนะโจทย์การแข่งขันให้ดีที่สุด ภายใต้แนวคิดการทำงานจริงบนสถานีอวกาศ ขอแสดงความยินดีกับทุก ๆ ทีมที่ได้รับรางวัล และขอต้อนรับทีมผู้ชนะเลิศสู่การแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติที่จะถ่ายทอดสดมาจากศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น หวังว่าจะได้รับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลงานและการทำงานในอนาคตต่อไป”
สำหรับทีมตัวแทนประเทศไทยจะได้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการ The 4th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์นานาชาติผ่านทางออนไลน์ โดยถ่ายทอดสดจากศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนตุลาคมนี้ ผ่านช่องยูทูบของแจ็กซา ทั้งนี้เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกคนจะสื่อสารตรงไปที่สถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งมีนักบินอวกาศเป็นผู้ควบคุมการแข่งขันและได้สัมผัสกับศูนย์อวกาศสึกุบะ ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นสถานที่หลักสำหรับปฏิบัติการโครงการวิจัยอวกาศของญี่ปุ่น และฝึกฝนนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นที่ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานีอวกาศนานาชาติ