พาณิชย์ – DITP เปิดตลาดเจรจาการค้า BIDC 2023 หนุนเอกชนจับคู่ธุรกิจ ตั้งเป้าปิดดีล 500 ล้านบาท

พาณิชย์ – DITP เปิดตลาดเจรจาการค้า BIDC 2023 หนุนเอกชนจับคู่ธุรกิจ ตั้งเป้าปิดดีล 500 ล้านบาท

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ผนึกความร่วมมือแบบบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เปิดเวทีเจรจาการค้าออนไซต์เต็มรูปแบบในเทศกาล “Bangkok International Digital Content Festival 2023” (BIDC 2023) ครั้งที่ 10 ภายใต้แนวคิด “Hello AI” เพื่อก้าวสู่โลกธุรกิจแห่งอนาคตอย่างไร้ขีดจำกัด โดยจัดทัพยกขบวนผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทย 54 บริษัท เจรจาการค้ากับต่างชาติกว่า 10 ประเทศทั่วโลก หวังขยายศักยภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท เข้าประเทศ

คุณภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ตระหนักถึงการขยายตัวและความท้าทายของธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ อันนำมาสู่โอกาสมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ในการขยายช่องทางการตลาดและตอกย้ำภาพลักษณ์อันดีของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดสากล จึงได้เดินหน้าสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในเวทีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจบริการด้านดิจิทัลคอนเทนต์ในการสร้างเครือข่ายทางการค้าในตลาดต่างประเทศ รวมถึงการขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนและแสดงศักยภาพของธุรกิจบริการดิจิทัลคอนเทนต์ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดสากล ตามยุทธศาสตร์และเป้าหมายการส่งเสริมธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูงผ่านการขับเคลื่อนและผลักดัน Soft Power ไทย สำหรับงาน BIDC 2023 กรมฯ ตั้งเป้าจับคู่เจรจาธุรกิจมากกว่า 240 คู่ สร้างมูลค่าไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าไม่เกินความจริงอย่างแน่นอน”

คุณณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากความสำเร็จในปีที่ผ่านมามีการจับคู่เจรจาการค้าออนไลน์ในงาน BIDC 2022 จำนวน 266 คู่ สร้างมูลค่าจากการเจรจาการค้ากว่า 690 ล้านบาท สำหรับปีนี้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ที่จะได้กลับมาจัดงานแบบออนไซต์ อีกครั้ง โดยมีผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทยเข้าร่วมกว่า 54 บริษัท คาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการต่างชาติชั้นนำกว่า 10 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซีย รัสเซีย ลาว ฮ่องกง และ อินโดนีเซีย ซึ่งจะเดินทางเข้ามาเจรจาการค้าแบบ One-on-one ในวันที่ 17-18 กรกฎาคมนี้ ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค โดยได้รับความสนใจจากบริษัทชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลกทั้งในด้านเกมแอนิเมชันคาแรคเตอร์ และอีเลิร์นนิง เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาการค้าในครั้งนี้ด้วย อาทิ Tencent Technology, Bandai Namco Studios, DeNA, Warner Bros. Discovery,  Xilam Animation, Wildbrain และ Poplar Publishing นอกจากนี้ในวันที่ 16 กรกฎาคม จะมีการจัดกิจกรรม Networking Reception เพื่อสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทยและต่างชาติอีกด้วย”

นับเป็นความพยายามจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยในกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจสนับสนุนการจัดงาน BIDC มาอย่างต่อเนื่องกว่า 1 ทศวรรษ แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่พันธมิตรทุกภาคส่วนก็ยังร่วมมือกันอย่างแข็งขันเต็มที่ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศผ่านธุรกิจบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง และเกิดเป็นระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง

ทั้งนี้ งาน BIDC เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กับพันธมิตรทั้งภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยมี 5 สมาคม ดิจิทัลคอนเทนต์ ได้แก่ สมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย (e-LAT) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) สมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (BASA) สมาคมดิจิทัลคอนเทนท์ไทย (DCAT) และสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) จัดกิจกรรมเจรจาการค้าและสร้างเครือข่ายในงาน BIDC 2023 ระหว่างวันที่ 16-18 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า