การสัมมนาโครงการปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจร
รายงานจากองค์กรอนามัยโลก ได้ให้ข้อมูลที่ชี้ชัดว่า โรคพาร์กินสัน มีอัตราเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในกลุ่มโรคความเสื่อมทางระบบประสาท และจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในอัตราส่วนประมาณ 1-3% ของผู้สูงอายุไทย โดยการรักษาในประเทศไทยเห็นได้ชัดว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเมื่อมีอาการมากแล้ว ทำให้การรักษาต้องใช้ยาที่เยอะมาก คุณภาพชีวิตผู้ป่วยลดลง เป็นภาระในการรักษาต่อครอบครัว สังคมและประเทศชาติ
เมื่อสมัยก่อนกลุ่มโรคสมองเสื่อม และโรคพาร์กินสัน ถูกคิดว่าเป็นโรคที่เป็นแล้วไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขได้ แต่ในปัจจุบันมีงานวิจัยชี้ชัดว่า กลุ่มโรคสมองเสื่อมและโรคพาร์กินสัน มีแนวทางป้องกันและสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเหตุผลของการสัมมนาโครงการปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจร เรื่อง “โรคพาร์กินสัน และการป้องกัน ความฝันหรือความจริงที่เป็นไปได้” จัดโดยสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30-16.30 น. เป็นโครงการวิชาการทางออนไลน์ (ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย) โดยจะนำความรู้ใหม่ ๆ ในเรื่องของวิธีการป้องกันโรคพาร์กินสันมาสื่อสารให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาของกลุ่มโรคสมองเสื่อมและโรคพาร์กินสัน อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัว แต่เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา
การสัมมนาครั้งนี้ไม่ได้สร้างให้เกิดความตื่นตระหนกหรือความกังวล แต่ในทางกลับกันเพื่อทำให้ทุกท่านได้รู้ และวางแผนถึงการป้องกันที่สามารถทำได้ในปัจจุบัน โดยการเสวนาครั้งนี้มีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญความรู้ด้านโรคพาร์กินสัน และผู้ดำเนินการอภิปราย ศาสตราจารย์ นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ ภาคีสมาชิก จะมาไขข้อข้องใจถึงการป้องกันว่าสามารถทำได้อย่างไร และยังมีการพูดถึงเรื่องอาหารสุขภาพที่ดีต่อโรคพาร์กิน การออกกำลังกายที่ป้องกันโรคพาร์กินสัน และการนอนที่ดีต่อสุขภาพเป็นอย่างไร พบกันในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30-16.30 น. สามารถลงทะเบียนออนไลน์ผ่านลิงก์ https://lin.ee/xWrBZCH ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย