JAXA ชวนเด็กไทยเสนอไอเดียทดลองในอวกาศ คัด ‘สุดยอดไอเดีย’ สื่อสารการทดลองกับนักบินอวกาศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นหรือแจ็กซา (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น จัดทำโครงการ “Asian Try Zero-G 2023” ชวนเยาวชนไทยส่ง “แนวคิดการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำเพื่อทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ” ร่วมแข่งขันกับประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ร่วมกับ JAXA ดำเนินการโครงการ Asian Try Zero-G 2023 เปิดรับไอเดียการทดลองวิทยาศาสตร์จากเยาวชนไทย เพื่อทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยคณะกรรมการของ สวทช. จะทำการคัดเลือกไอเดียการทดลองที่น่าสนใจจำนวน 3 การทดลอง ในฐานะตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันกับประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ญี่ปุ่น บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย จากนั้น JAXA จะคัดเลือกรอบสุดท้ายจำนวน 4-6 การทดลอง สำหรับทดลองจริงในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ บนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยนักบินอวกาศอวกาศญี่ปุ่น
การรับสมัครของโครงการ Asian Try Zero-G 2023 ในปีนี้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
Category A : Physics Experiments สามารถสมัครเป็นรายบุคคลหรือกลุ่ม โดยส่งไอเดียการทดลองทางฟิสิกส์อย่างง่ายที่ทำได้ โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งข้อเสนอไอเดียการทดลองต้องมีสมมติฐาน หลักการ และเหตุผลของการทดลอง ที่สำคัญขั้นตอนการทดลองต้องมีความเรียบง่ายและทำให้เสร็จสิ้นได้ภายใน 10 นาที
Category B : Exercise in Space เป็นการเสนอแนวคิดสำหรับการออกกำลังกาย บนสถานีอวกาศนานาชาติ ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำที่ยังไม่เคยลองทำมาก่อน ซึ่งอาจเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นไปไม่ได้บนโลก แต่เป็นไปได้ในอวกาศ และดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเวลา 10 นาที โดยวัตถุประสงค์ของการออกกำลังกาย ต้องไม่ใช่เพื่อการวิจัยทางการแพทย์หรือการรักษาพยาบาล ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่เยาวชนไทยจะได้เสนอไอเดียเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์คิดการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศในอนาคต
สำหรับโครงการ Asian Try Zero-G 2022 ในปีที่ผ่านมาทาง JAXA ได้คัดเลือกการทดลองของเยาวชนไทยจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ การศึกษาพฤติกรรมของก้อนน้ำทรงกลม เมื่อถูกแรงกระทำในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Water sphere disturbance in zero gravity) เสนอโดย คุณจิณณะ วัยวัฒนะ (พรีม) นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และการศึกษาระดับน้ำที่สูงขึ้นจากแรงดึงของผิวภาชนะในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Study of the height of water which is risen up in microgravity) เสนอโดย คุณอินทิราภรณ์ เชาว์ดี (ปาย) บัณฑิตจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถส่งใบสมัครเป็นภาษาอังกฤษมาได้ที่อีเมล spaceeducation@nstda.or.th ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 และติดตามรายละเอียดข้อมูลและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการ Asian Try Zero-G 2023 ได้ที่ Website: https://www.nstda.or.th/spaceeducation/atzg2023 และ Facebook : https://www.facebook.com/NSTDASpaceEducation