NSM จับมือ แกมมาโก้ เปิดเวทีการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ประจำปี 2566 ร่วมเฟ้นหาสุดยอดเยาวชนไทยแข่งหุ่นยนต์ระดับโลก
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม ร่วมกับ บริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ ประจำปี 2566 เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนแสดงศักยภาพด้านการออกแบบและเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ พร้อมคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ 7-9 พฤศจิกายน 2566 ณ สาธารณรัฐปานามา
ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “NSM อยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวง อว. ที่ส่งเสริมในการสร้างแรงบันดาลใจและมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้กับเยาวชน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ และสามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปบูรณาการกับศาสตร์อื่น ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศ
กิจกรรมการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองในด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ส่งเสริมจินตนาการความคิดริเริ่มในการพัฒนาหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรม พร้อมใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์รวมถึงการค้นคว้าสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ทั้งนี้ขอเชิญชวนเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมการประกวด แข่งขันในครั้งนี้ หวังว่าเวทีนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนได้หันมาสนใจเทคโนโลยีหุ่นยนต์มากขึ้น อันเป็นฐานกำลังปัญญาที่สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป”
ดร.นวลวรรณ ชะอุ่ม ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “บริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการแต่งตั้งจาก World Robot Olympiad Association Ltd. ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ (WRO 2023 : World Robot Olympiad 2023) ในประเทศไทย เพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ ณ สาธารณรัฐปานามา
โดยปีนี้ประเทศไทยได้กำหนด จัดการแข่งขันระดับภูมิภาค 4 ภูมิภาค 1 สนามพิเศษ และ 1 การแข่งขันฯ ในรอบชิงชนะเลิศประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 6 รอบ โดยคาดว่าจะมีจำนวนทีมเยาวชนเข้า ร่วมการแข่งขันทั้งสิ้นกว่า 700 ทีมจากทั่วประเทศจำนวนกว่า 3,600 คน ซึ่งทีมผู้ชนะการแข่งขันระดับ ชิงแชมป์ประเทศไทยของแต่ละรุ่น จะได้รับสิทธิ์ในการเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ ณ สาธารณรัฐปานามา พร้อมชิงถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อไป
โดยการแข่งขันฯ ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน มากมาย ได้แก่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โรงเรียนสตรีทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เซ็นทรัล ศรีราชา เดอะมอลล์ โคราช และ อิชิตันกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)”
ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าวว่า “ทางมหาลัยฯ มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ สนับสนุนด้านพื้นที่ในการจัดการแข่งขันระดับประเทศครั้งนี้ เพื่อช่วยผลักดันให้เด็ก ๆ และเยาวชน ได้รู้จัก และหันมาสนใจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งเวทีนี้จะช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเยาวชนเพื่อนำไปต่อยอดด้านการศึกษา พัฒนานวัตกรรม รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ ต่อไป”
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “OKMD หรือสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) อยู่ภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรามีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีโอกาสแสวงหา ได้พัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนของประเทศโดยเฉพาะเยาวชน เพราะเยาวชนคือความหวังของประเทศ ซึ่งในงานนี้เป็นโอกาสอันดีที่เยาวชนของเรา จะได้รับการส่งเสริมเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ เป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้ขยายความรู้ ความสามารถด้านการออกแบบและการสร้างหุ่นยนต์ โดยน้อง ๆ สามารถนาความรู้เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้กับตัวเองและรู้จักทำงานร่วมกันเป็นทีม สามารถริเริ่มในการพัฒนาหุ่นยนต์ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาวงการอุตสาหกรรมในอนาคตอัน ใกล้ อย่างที่ทุกท่านทราบแล้วว่าหุ่นยนต์เองเป็นเทรนด์ในปัจจุบันและอนาคตที่น้อง ๆ เยาวชนสนใจ okmd เองก็เล็งเห็นว่า กิจกรรมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้เองเป็นองค์ความรู้ที่น้อง ๆ เยาวชนของเราสามารถเข้าร่วมเพื่อพัฒนาทักษะความสามารถความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์โดยการค้นคว้าสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่สำคัญคือ เพื่อก้าวไปแข่งขันในระดับนานาชาติและสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้”
คุณสวรินทร์ เรืองโรจน์ ตัวแทนผู้ผ่านประสบการณ์ร่วมการแข่งขันฯ กล่าวว่า “การแข่งขันจะทำให้เราได้เรียนรู้ประสบการณ์หลายรูปแบบ เนื่องจากในการแข่งขันก็จะมีกฎกติกาต่าง ๆ ที่ทำให้ต้องคิดออกแบบสร้างสรรค์หุ่นยนต์ให้ทำงานที่ต้องการและยังพัฒนาทักษะกระบวนการแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ก็ยังเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนจากนอกห้องเรียน ได้พบเจอเพื่อน ๆ จากหลาย ๆที่ ทั่วโลก ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงกระบวนการคิด ความรู้ นวัตกรรมและวัฒนธรรม และเรื่องราวอื่น ๆ ของเพื่อน ๆ จากทั้งในและต่างประเทศที่มาเข้าร่วมการแข่งขัน”
รายละเอียดการแข่งขันฯ มีดังนี้
ประเภทการแข่งขัน : ROBOMISSION (ประเภทหุ่นยนต์อัตโนมัติ)
ระดับชิงแชมป์ภูมิภาคกลางในวันที่ 24-25 มิ.ย. 66 ณ เซ็นทรัลศรีราชา
ระดับชิงแชมป์ภูมิภาคเหนือในวันที่ 28-29 ก.ค. 66 ณ มหาวิทยาลัยพะเยา
ระดับชิงแชมป์ ภูมิภาคใต้ ในวันที่ 5 – 6 ส.ค. 66 ณ โรงเรียนสตรีทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
ระดับชิงแชมป์ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันที่ 12-13 ส.ค. 66 ณ เดอะมอลล์ โคราช
ประเภทการแข่งขัน : ROBOSPORTS (Double Tennis) และ FUTURE ENGINEERS (รถยนต์ไร้คนขับ)
สนามพิเศษในวันที่ 24-25 ส.ค. 66 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
ประเภทการแข่งขัน : ROBOMISSION FUTURE INNOVATORS (ประเภทโครงงาน)
ระดับชิงแชมป์ ประเทศไทย ในวันที่ 8 -10 ก.ย. 66 ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ สามารถศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนเข้าร่วมการแข่งขันได้ที่ https://gammaco.co.th/wro/หรือติดต่อฝ่ายประสานงานกิจกรรมการแข่งขัน 02 4594731-8 ต่อ 216, 232 โดยการแข่งขันฯ ระดับภูมิภาคเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันนี้ – 1 มิถุนายน 2566 การแข่งขันฯ สนามพิเศษ พร้อมชิงถ้วย พระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ วันที่ 1 มิถุนายน – 14 กรกฎาคม 2566 และการคัดเลือกรอบชิงแชมป์ประเทศไทย จะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 – 31 สิงหาคม 2566