สกสว. ผนึกกำลัง PMU ร่วมจัดทำ Impact Pathway มุ่งขับเคลื่อนงานวิจัย ตอบโจทย์แผน ววน. ของประเทศ
สกสว. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานนโยบาย และหน่วยบริหารจัดการทุน จัดทำเส้นทางสู่ผลกระทบของงานวิจัย (Impact Pathway) สะท้อนการออกแบบแผนงานให้เป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ มุ่งบรรลุเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (Objective Key Results : OKRs) ตามแผนด้าน ววน. ของประเทศ สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ 3-4 พฤษภาคม 2566
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ 9 หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU : Program Management Unit) 9 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.) พร้อมด้วยตัวแทนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การจัดทำ Impact Pathway ของแผนงานประจำปี 2567 ภายใต้แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566-2570 โดยมีที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ คุณวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ คุณนิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษา สกสว. คณะผู้บริหาร สกสว. ผู้บริหาร PMU และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ณ โรงแรม Pullman Bangkok King Power กรุงเทพฯ
รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงความสำคัญในการออกแบบ Impact Pathway ว่า เพื่อเป็นการส่งมอบผลลัพธ์ตาม OKRs ของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในปีที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) นำไปสู่การออกแบบการทำงานแบบมีเป้าหมายรายปี ให้สามารถกำหนดงบประมาณที่ต้องการใช้จริงในแต่ละปีได้ ซึ่งจะทำให้คำของบประมาณมีความน่าเชื่อถือ เพราะได้เห็นถึงแนวทางการทำงานที่ออกแบบไว้แล้ว และหากงบประมาณถูกปรับลดก็สามารถปรับลดบางกิจกรรม ลดทอนค่าเป้าหมาย ขยายเวลาส่งมอบผลลัพธ์ได้อย่างเป็นระบบ หรือสามารถระบุได้ว่างบประมาณที่ถูกลดลงจะส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายของแผนงานอย่างไร นอกจากนี้ Impact Pathway ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความชัดเจนในการส่งมอบผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบต่อกองทุน ววน.
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสให้หน่วยบริหารและจัดการทุนได้รับทราบและทำความเข้าใจแนวคิด หลักการ การจัดทำ Impact Pathway ร่วมกับ สกสว. เพื่อให้ได้คำของบประมาณที่มีคุณภาพ สามารถนำส่งเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญตามแผนด้าน ววน. ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้รับทราบและทำความเข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ เช่น การทบทวนและปรับปรุง OKRs, แนวทางการจัดทำ KR รายปี อีกทั้งยังได้จัดกิจกรรม Workshop ฝึกปฏิบัติการ ผ่านการแบ่งกลุ่มตามแผนงานย่อย
ทั้งนี้ สกสว. มีพันธกิจในการจัดทำแผนด้าน ววน. รวมถึงการจัดสรรงบประมาณด้าน ววน. ให้มีประสิทธิภาพ โดยการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานนโยบาย และหน่วยบริหารจัดการทุน ซึ่งปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญในการจัดทำและขับเคลื่อนแผนด้าน ววน. นั้น คือการทำงานร่วมกับ PMU ตลอดกระบวนการ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญตามแผนด้าน ววน. ในการขับเคลื่อนประเทศด้วยระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม