วช.- มรภ.เชียงราย หนุนวิศวกรสังคม พัฒนาพื้นที่ชุมชนข้าวศรีดอนมูล เชียงแสน ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีรายได้อย่างยั่งยืน
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการวิจัย การพัฒนาพื้นที่การเกษตรข้าวชุมชนศรีดอนมูลเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยกระบวนการทางวิศวกรสังคม ณ ลานโรงอบข้าวศูนย์ข้าว ชุมชนตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 2 เมษายน 2566
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้รับการสนับสนุนจาก วช. มี ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ มรภ.เชียงราย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อบ่มเพาะวิศวกรสังคมสำหรับการพัฒนาเชิงพื้นที่ และศึกษาข้อมูลพื้นที่ชุมชนศรีดอนมูลด้วยการใช้เครื่องมือวิศวกรสังคมและกระบวนการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อถอดบทเรียนกระบวนการวิศวกรสังคมกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามแผนโครงการวิศวกรสังคม โดยมีทีมนักวิจัย นักศึกษา มรภ.เชียงราย พร้อมด้วยคุณสามารถ จันทาพูน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล คุณธนานุวัฒน์ จันทร์ฟอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนศรีดอนมูล และประชาชนบริเวณใกล้เคียงให้การต้อนรับ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่นักวิจัย หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ในประเด็นสำคัญของประเทศทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งสหสาขาวิชาการ และมุ่งเน้นการสร้างผลงานวิจัยและการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาได้จริงอย่างทันท่วงที ทั้งเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคมและชุมชน เชิงนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน วช. จึงมีความพร้อมที่จะสร้างสุดยอดผู้นำวิศวกรสังคม เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยการสนับสนุนนักศึกษา และบุคลากรที่ผ่านกระบวนการวิศวกรสังคม ให้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยกลุ่มผู้นำวิศวกรสังคมสามารถลงชุมชนแล้วนำความรู้ไปใช้ในการยกระดับนวัตกรรมสู่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป โดย วช. ได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ช่วยเกษตรกรแก้ไขปัญหาความต้องการของพื้นที่ชุมชนศรีดอนมูล ด้วยการใช้เครื่องมือวิศวกรสังคมและกระบวนการพัฒนาเชิงพื้นที่สู่การพัฒนา เพื่อให้นักศึกษาวิศวกรสังคมสามารถดำเนินการพัฒนาพื้นที่ศรีดอนมูลตามหลักแนวคิดวิศวกรสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย มรภ.เชียงราย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยถึงการดำเนินงานว่า มรภ.เชียงราย ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ใช้พื้นที่ชุมชนศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ต้นแบบในการดำเนินโครงการวิจัยการพัฒนาพื้นที่การเกษตรข้าวชุมชน เนื่องจากชุมชนศรีดอนมูลมีความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีลำน้ำไหลผ่านคือ ลำน้ำแม่คำ และลำน้ำแม่มะ เหมาะสมสำหรับทำการเกษตรเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอเชียงแสน มีการจัดตั้งบริษัทศูนย์ข้าวชุมชน แต่ยังประสบปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อปรับปรุงโรงเรือนของศูนย์ข้าวให้มีความทันสมัยและได้มาตรฐานมากขึ้น มีปัญหาในการอบข้าว ให้ได้มาตรฐานและคุณภาพ รวมทั้งการยกระดับแปลงผลิตข้าวของสมาชิกจาก GAP ให้ผ่านรับรองมาตรฐานอินทรีย์ และการแปรรูปผลผลิตข้าวให้เป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมีเอกลักษณ์ และแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น มีช่องทางการตลาดที่หลากหลายทันสมัยโดยเฉพาะตลาดออนไลน์ ตลอดจนการพัฒนาด้านการบริหารจัดการธุรกิจที่เป็นมาตรฐานในรูปแบบบริษัทของชุมชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างเศรษฐกิจด้วยเกษตรอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต้องเชื่อมร้อยกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกว่า 40 กลุ่ม ที่จำเป็นต้องพัฒนาตลอดห่วงโซ่ให้สามารถผลิตได้ขายเป็นทั้งระบบได้ โดยทีมนักวิจัยดำเนินการสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อการจำหน่ายที่ไม่มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นมากขึ้นนอกจากข้าวสาร และเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวให้มีขนาดใหญ่และเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของอำเภอเชียงแสน พร้อมทั้งช่วยพัฒนาช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายเพิ่มขึ้น ดร.ชฎาพัศฐ์ ยังระบุถึงกระบวนการคัดเลือกนักศึกษาเป็นวิศกรสังคมว่ามีความเข้มข้น โดยมีกรรมการคัดเลือกจากภาคชุมชน เป็นหัวหน้าชุมชน นักศึกษาจะต้องเข้ามาหาข้อมูลในพื้นที่โดยใช้เครื่องมือทางวิศวกรทางสังคม จนได้ทีมวิศวกรสังคมที่เข้มแข็ง 5 ทีม โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้จากการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน
ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เยี่ยมชมโครงการวิจัย โดยมีทีมนักศึกษาวิศวกรสังคม จำนวน 5 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือก นำเสนอผลการดำเนินการพัฒนาศักยภาพตนเองสู่การเป็นนักศึกษาวิศวกรสังคมและผลงานนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าจากข้าว-เศษวัสดุจากฟางข้าว ที่ประกอบด้วย ทีมแผนที่ข้าวชุมชน Geo-Database ทีมน้ำหมักมอลต์ข้าว ทีมก้อนเห็ดจากฟางข้าว ทีมวัสดุก่อสร้างจากฟางข้าว และทีมกระดาษจากฟางข้าว และตัวแทนชุมชนร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ โดยผู้บริหาร และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ให้ข้อเสนอแนะ และแนวทางในการพัฒนาโครงการวิจัยต่อไป