สอวช. ชี้แนวทางพัฒนากำลังคนแบบ co-creation รัฐ-เอกชน ร่วมออกแบบหลักสูตรการพัฒนากำลังคน ตอบโจทย์ภาคผู้ใช้บัณฑิตจริง เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกสมัยใหม่

สอวช. ชี้แนวทางพัฒนากำลังคนแบบ co-creation รัฐ-เอกชน ร่วมออกแบบหลักสูตรการพัฒนากำลังคน ตอบโจทย์ภาคผู้ใช้บัณฑิตจริง เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกสมัยใหม่

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมเสวนาในประเด็น “Future of Human Capital” ในงาน Executive Forum on Competitiveness 2023 Getting ready for the Future จัดโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566

โดยเวทีนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนของประเทศให้พร้อมสำหรับอนาคต เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในบริบทใหม่ของโลก มีผู้เข้าร่วมทั้งในกลุ่มผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีบทบาทด้านนโยบายและการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคน และผู้ที่สนใจและต้องการมีส่วนร่วมในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงประเด็นท้าทายที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ คืออัตราการเปลี่ยนแปลงเรื่องการพัฒนากำลังคนในประเทศที่ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกภายนอก ซึ่งปัจจัยที่จะมีผลในการตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศคือเรื่องของการให้แรงจูงใจในการลงทุน และสิ่งที่ตามมาคือเรื่องบุคลากร ที่ต้องพิจารณาว่ามีบุคลากรที่มีความสามารถเพียงพอหรือไม่ ดังนั้นเรื่องการพัฒนาบุคลากรจึงต้องให้ความสำคัญอย่างมาก การออกแบบการพัฒนาบุคลากร หรือการจัดศึกษาจะต้องเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยน ให้เท่าทัน technological disruption อีกทั้งในปัจจุบันคนอายุยืนยาวขึ้น ปรับเปลี่ยนไปมีวิถีชีวิตแบบหลากหลายขั้น (multi-stage life) คือ เกิด เติบโต เข้าเรียน ขณะเรียนก็ทำงานไปด้วย และกลับมาพัฒนาทักษะเพิ่ม ออกไปทำงานใหม่ การพัฒนาคนจึงต้องเปลี่ยนตาม อีกทั้งยังต้องจับตาเรื่องจำนวนนักศึกษาในระบบที่ลดลง ต้องมองถึงการดึงดูดนักศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาศึกษาในประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยจะต้องปรับเปลี่ยนให้เท่าทันด้วย

“การพัฒนากำลังคนของประเทศควรจะต้องทำให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะแค่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องมองถึงกลุ่มคนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศอย่างกลุ่มภาคการเกษตรที่เป็นต้นน้ำในการสร้างผลผลิตเพื่อไปขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจด้วย รวมถึงอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ Gig Economy หรือกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพอิสระ ทำอาชีพบนแพลตฟอร์ม กลุ่มคนเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อภาคเศรษฐกิจ ในอนาคตการขับเคลื่อนและพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือ formal education อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ระบบพัฒนาคนของประเทศจะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการทำให้การศึกษาที่มีคุณภาพหรือการพัฒนาทักษะ ทั้ง Reskill Upskill ให้เข้าไปถึงคนแต่ละกลุ่มโดยไม่มีข้อจำกัดด้วย”

ดร.กิติพงค์ ได้ชี้ให้เห็นแนวทางสำคัญ 3 ส่วน ที่จะเป็นแนวทางในการพัฒนากำลังคนสู่ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีคุณภาพ ได้แก่

1) การจัดการศึกษาในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ เป็นระบบใหม่ในการพัฒนากำลังคน ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน เพื่อผลิตคนให้ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมหรือภาคผู้ใช้บัณฑิต ตัวอย่างเช่น หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ที่บริษัทเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตกำลังคนร่วมกับสถาบันการศึกษา หรือการทำงานแบบ co-creation ผ่านการร่วมออกแบบหลักสูตรที่ใส่ความต้องการกำลังคนที่ภาคเอกชนต้องการจริงลงไป เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในทักษะเหล่านั้นสามารถออกไปทำงานได้เลยโดยไม่ต้องรอจบ 4 ปี และได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับทักษะที่มี แต่หากในอนาคตต้องการเพิ่มเติมทักษะเพื่อปรับตำแหน่งงานให้สูงขึ้นก็สามารถกลับเข้ามาเรียนได้ โดยนำหน่วยกิตที่เรียนแล้วฝากไว้กับธนาคารหน่วยกิต เมื่อครบตามข้อกำหนดก็จะสามารถรับปริญญาได้ทันที

2) การจัดทำแพลตฟอร์มด้านการศึกษาและการพัฒนาทักษะ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งการจัดทำแพลตฟอร์มนั้นจะมีต้นทุนต่ำ และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด ลดข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะกำลังคนได้อย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันมีแพลตฟอร์มพัฒนา soft skill ที่ให้นักศึกษาเข้าถึงได้ฟรีผ่านระบบออนไลน์ รวบรวมคอร์สเอาไว้กว่า 300 คอร์ส รองรับนักศึกษาได้กว่า 2 ล้านคน โดยดึงคอร์สที่น่าสนใจมาจากภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาพัฒนาทักษะให้กับเด็ก

และ 3) การบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน หรือ Work-integrated Learning (WiL) เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำงานจริงร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้จากการทำงานและมีรายได้ในระหว่างเรียน หรือการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาบริษัท SME ที่มีการเติบโตในระดับกลาง ผ่านการดึงนักศึกษาในระดับปริญญาตรีเข้าไปอยู่ในโรงงาน จัดการเรียนการสอนผ่านการให้โจทย์ที่เกิดขึ้นจริงในโรงงาน โดยมีเมนเทอร์คอยให้คำแนะนำกับเด็ก ซึ่งแนวทางนี้สามารถทำให้บริษัทยกระดับรายได้จาก 500 ล้านบาทขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาทได้ จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีความต้องการสูงขึ้นจากเดิม ช่วยตอบโจทย์และสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น การทำงานร่วมกันแบบ co-creation ระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และสถาบันการศึกษาจึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยพัฒนากำลังคนในอนาคตของประเทศได้อย่างมีคุณภาพ

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า