สวทช. เปิดสูตรสำเร็จโครงการ “TIME” ยกระดับขีดความสามารถ พัฒนา ‘บุคลากรทักษะสูง’ ตอบโจทย์อุตสาหกรรม
สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต (CFA) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดสัมมนา ความสำเร็จโครงการ TIME & WiL ยกระดับขีดความสามารถ พัฒนาคนตอบโจทย์อุตสาหกรรมภายใต้โครงการ Total Innovation Management Enterprise (TIME) and Work-integrated Learning (WiL) Project Success ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงสถานประกอบการกับสถานศึกษาและหน่วยงานวิจัยในการบูรณาการการพัฒนาบุคลากร ภายในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 หรือ NAC2023 พร้อมจัดพิธีมอบโล่ “รางวัลนวัตกรรมการศึกษาเพื่อสังคม” ให้กับ 3 สถานประกอบการ ได้แก่ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด บริษัท พีรพัฒน์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ซึ่งเป็นสถานประกอบการตัวอย่างที่แสดงถึงศักยภาพในการพัฒนากระบวนการยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมของอุตสาหกรรมไทย ผ่านการพัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารจัดการกระบวนการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องภายใต้ชื่อ โครงการ “TIME” ในวันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า TIME เป็นโครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงรูปแบบใหม่ ต่อยอดมาจากความสำเร็จของโครงการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning : WiL) และโครงการพัฒนานักวิจัยในอุตสาหกรรมร่วมกับสถานประกอบการขนาดกลาง ของ สอวช. ซึ่งส่งต่อโครงการสู่การขยายผลโดย สวทช. เป็นผู้บริหารจัดการ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นผู้จัดสรรงบประมาณ โดยมีการพัฒนาองค์ความรู้ทางการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมใน sector หลัก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้สนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ตามนโยบายการส่งเสริมการลงทุนได้ ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาระบบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับ BOI โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายไปคำนวณเพื่อยื่นของสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการได้
คุณนพดร ปัญญาจงถาวร รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต (CFA) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 8 บริษัท มีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท จำนวน 45 คน จากสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยโครงการ TIME ได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สกสว. ซึ่งความสำเร็จของโครงการเป็นการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบการสร้างกำลังคนแนวใหม่ โดยมุ่งเน้นการค้นหารูปแบบทักษะที่จำเป็นสำหรับการสร้างนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม
ดังนั้นการพัฒนาแพลตฟอร์มในโครงการนี้ จึงมุ่งเป้าในการออกแบบระบบการพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับระบบนิเวศนวัตกรรมที่จะต้องเริ่มจากการพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างนวัตกรรมอุตสาหกรรม ที่สามารถบูรณาการองค์ความรู้ทางเทคนิคเข้ากับองค์ความรู้ทางการจัดการ เพื่อนำไปออกแบบกิจกรรมที่ต้องทำ ซึ่งการบรรลุเป้าหมายได้ จะต้องพัฒนาความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการนำปัญหาจริงมาเป็นเป้าหมายโครงการนวัตกรรม เพื่อให้ได้ต้นแบบของกระบวนการ ซึ่งจะนำไปสู่การสื่อสารกับภาคอุตสาหกรรมว่าต้องมีการดำเนินการอย่างไร
โดยผลสำเร็จของโครงการ TIME มีต่อหลายภาคส่วน ได้แก่ สถานประกอบการและภาคอุตสาหกรรม จะได้พนักงานซึ่งเกิดจากการบ่มเพาะนักศึกษา โดยจะเป็นบุคลากรทักษะสูง ที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระดับประเทศช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ด้านสถานศึกษาและมหาวิทยาลัย จะสามารถพัฒนาหลักสูตรที่สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้สถานศึกษามีหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมแต่ละประเภท และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้านหน่วยงานวิจัยและหน่วยงานให้ทุน จะเกิดการเชื่อมโยงหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน กับภาคการศึกษา ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศขององค์กรนวัตกรรม ซึ่ง สวทช. มีเป้าหมายที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้เกิด Eco System ดังกล่าวเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ทั้งนี้หากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิต สนใจรายละเอียดโครงการเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต (CFA) สวทช. โทรศัพท์ 02 6448150 เว็บไซต์ www.career4future.com หรือ Facebook : Career for the Future Academy