นักวิจัยจาก มจธ. และ มก. จัดทำหลักสูตรสร้างทักษะคนพิการทางสายตา สู่อาชีพนักชิมครั้งแรกของไทย

นักวิจัยจาก มจธ. และ มก. จัดทำหลักสูตรสร้างทักษะคนพิการทางสายตา สู่อาชีพนักชิมครั้งแรกของไทย

หลังจากทำงานวิจัยพัฒนาศักยภาพของคนพิการทางสายตามาตั้งแต่ปี 2558 โดยเริ่มจากการจำแนกโปรไฟล์กลิ่นฝักวนิลา การจัดกลุ่มกลิ่นข้าวหุงสุก ซึ่งพบว่า คนพิการทางสายตา มีความสามารถในการจำแนกกลุ่มกลิ่นได้แม่นยำ และยังมีความแม่นยำในการประเมินความกรอบของขนมกรุบกรอบได้ใกล้เคียงกับการใช้เครื่องมือวัดมากกว่าคนสายตาปกติ

สอดคล้องกับผลการศึกษางานวิจัยในอดีตที่พบว่า คนพิการทางสายตามีศักยภาพในการจัดกลุ่มกลิ่นและแยกความแตกต่างของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ดีกว่าคนปกติทั่วไป เป็นข้อมูลสนับสนุนได้อย่างดีว่า คนพิการทางสายตามีประสาทประสาทสัมผัสที่ดี ที่สามารถใช้เป็นฐานในการชิมอาหารได้ ซึ่งในต่างประเทศมีการยอมรับคนพิการเข้าไปทำงานทดสอบสัมผัสผลิตภัณฑ์หลายขนิดก่อนที่จะออกสู่ตลาด เช่น ผลิตภัณฑ์เวชสำอางในฝรั่งเศส หรือไวน์ในสหรัฐอเมริกา แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการใช้ศักยภาพของคนพิการทางการเห็น ในการทดสอบสินค้า ส่วนหนึ่งเพราะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและต้องมีการฝึกฝน ทดสอบเพื่อให้เกิดความแม่นยำ ถูกต้อง ซึ่งต้องใช้เวลานาน

ด้วยเหตุนี้ ผศ.ดร.ธิติมา วงษ์ชีรี นักวิจัยจากศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้จับมือร่วมกับ ผศ.ดร.อุศมา สุนทรนฤรังษี อาจารย์ประจำภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จัดทำโครงการ พัฒนาทักษะอาชีพนักชิมอาหารปรุงสำเร็จผู้พิการทางการเห็นเพื่อสร้างรายได้เสริม ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินงาน 12 เดือน เริ่มตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2565-กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ให้กับคนพิการอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปีโดยดำเนินการร่วมกับบุคลากรและนักเรียนในโรงเรียนสอนคนตาบอดและศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดในพื้นที่เป้าหมาย 3 แห่ง ได้แก่ ปากเกร็ด นนทบุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

ผศ.ดร.ธิติมา วงษ์ชีรี หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า การฝึกอาชีพนักชิมอาหารปรุงสำเร็จผู้พิการทางการเห็นประกอบด้วย 3 หลักสูตร เริ่มจาก หลักสูตร Train the Trainer ใช้เวลาอบรม 1 เดือนผ่านระบบออนไลน์ เป็นครูหรือผู้สอนคนพิการทางการเห็นจากศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ ต่อด้วยหลักสูตรพื้นฐานการชิมอาหารระยะเวลาอบรม 2 เดือน มีผู้ผ่านเข้ารับการอบรม 50 คน เป็นหลักสูตรออนไลน์สอนตั้งแต่วัตถุดิบ ลักษณะเด่นของอาหารแต่ละภาค ลักษณะหวาน เปรี้ยวขม และการใช้เครื่องเทศต่างกันอย่างไร และสุดท้ายคือหลักสูตรนักชิมเบื้องต้นหรือฝึกงานชิมอาหาร

ซึ่งมีผู้ผ่านเกณฑ์ 25 คน โดยมีการพาไปชิมอาหารจากร้านที่เข้าร่วมโครงการ มีเมนูพื้นถิ่นของ 3 พื้นที่ได้แก่ ทอดมันหน่อกะลา จากร้าน Mango88 Cafe เกาะเกร็ด นนทบุรี แกงเขียวหวานซี่โครงหมูกรุบกะลาจากร้าน Little Tree Garden อ.สามพราน จ.นครปฐม และเค้กมะพร้าวอ่อนจากร้านชมเฌอ คาเฟ่ &บิสโทร อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งนักชิมคนพิการทางการเห็น จะได้ใบประกาศนียบัตรเพื่อการันตีความรู้จากการผ่านการอบรมและการทดสอบประสาทสัมผัสในระดับหนึ่งที่จะเป็นใบเบิกทางในการสมัครงานหรือนำไปประกอบอาชีพนักชิมอาหารได้

ผศ.ดร.อุศมา สุนทรนฤรังษี นักวิจัยร่วมผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร กล่าวว่า เราได้ Smelling Training kit หรือชุดฝึกฝนการดมกลิ่นเครื่องเทศที่บริษัท บุญคอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ทำการสร้างสรรค์และสนับสนุนให้ทดลองใช้ในราคาพิเศษ ซึ่งทางโครงการได้ทำการจัดส่งให้คนพิการที่ผ่านการคัดเลือกคนละชุด เพื่อให้คนพิการทดลองดมตัวอย่างอ้างอิงเหล่านี้ก่อน แล้วให้บอกลักษณะของกลิ่นและรสสัมผัสที่ได้รับ เพื่อดูความเข้าใจคุณลักษณะของคนพิการเบื้องต้น เช่น กลิ่นมะกรูด กลิ่นเครื่องแกงในแกงเขียวหวานและทอดมัน แตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะอบรมเรื่องระดับความเข้มของรสชาติพิ้นฐาน ซึ่งมี 5 รสคือ หวาน เปรี้ยว เค็ม ขม และอูมามิ สามารถบอกหรือแยกแยะความเข้มของรสชาติในลักษณะที่ใกล้เคียงกันได้ จากนั้นเป็นการฝึกให้คะแนนโดยการสร้างขั้นตอนในการชิมเพื่อเป็นไกด์ไลน์หรือแนวทางในการทดสอบให้กับคนพิการสามารถอธิบายคุณลักษณะและการให้คะแนนได้

รศ.ดร.ธิติมา กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการนี้ตั้งใจจะเป็นการติดอาวุธให้คนพิการทางการเห็นได้พัฒนาศักยภาพจนเป็นนักชิมมืออาชีพ มีรายได้ มีงานทำอย่างมั่นคงยั่งยืน จากผู้ฝึกที่ผ่านการทดสอบ 25 คน มีประมาณ 8 คน ที่สามารถเป็นนักชิมอาชีพได้ แต่น่าเสียดายที่ยังขาดแรงสนับสนุนจากภาคเอกชนที่ยอมรับในผลงาน แต่เมื่อถึงขั้นจ้างงานจะติดปัญหาค่าใช้จ่ายสูง ตอนนี้จึงใช้วิธีรับชิมรสชาติให้กับร้านอาหาร ที่มีเมนูใหม่ ๆ ออกทุก 3-5 เดือน หรือชิมอาหารที่สร้างความแตกต่างจากร้านอื่นเพื่อเพิ่มมูลค่ายอดขายไปก่อน

“ส่วนตัว มีความหวังที่จะทำให้ผู้พิการทางการเห็น ซึ่งมีศักยภาพมีอาชีพ แต่เมื่อเป็นเรื่องยากและขาดผู้สนับสนุน การขับเคลื่อนต่อไปที่วางแผนไว้คือ จดทะเบียนตั้งเป็นบริษัท ผลิตสินค้าจากฝีมือของผู้พิการทางการเห็น ซึ่งขณะนี้ที่กำลังเล็งอยู่คือ ชาที่มีรสชาติเฉพาะตัว ที่สามารถสั่งได้ตามความต้องการของลูกค้า โดยเริ่มมีผลผลิตออกมาหลายรสชาติแล้ว อาทิ ชามะตูม ชาอูหลง ชาหอมหมื่นลี้ โดยจะเป็นโครงการที่ขอทุนสนับสนุนต่อเนื่องจาก วช. และจะมีการเปิดตัว พร้อมจัดนิทรรศการที่ จ. เชียงราย ต่อไป

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า