สกสว. และ สสส. ร่วมผลักดันการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ขับเคลื่อนสังคมไทยอย่างยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย และนักวิชาการ จัดเวทีเสวนาในประเด็น “การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลด้านการวิจัยและฐานข้อมูลด้านสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสังคม” ณ ห้องประชุม 201 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ในวันที่ 31 ตุลาคม 2565
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีหน้าที่ในการจัดงบประมาณด้านการวิจัย ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กววน.) แก่หน่วยรับงบประมาณกว่า 170 หน่วยงาน และ 9 หน่วยบริหารจัดการทุน แบ่งเป็นงบประมาณเพื่อดำเนินการด้านงานมูลฐาน (Fundamental Fund : FF) และงานวิจัยเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund; SF) โดยสิ่งสำคัญก่อนการจัดสรรงบประมาณ ต้องมีการจัดทำแผนวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม แล้วจึงดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนประเทศ
โดย สกสว. ทำงานร่วมกับภาคีหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำฐานข้อมูลเชิงประเด็น เพื่อการตัดสินใจวางแผนกำหนดแผนทิศทางและค่าเป้าหมาย รวมถึงการพยายามมองภาพในอนาคต นอกจากนี้ยังต้องมีระบบการวิเคราะห์และตัดสินใจเพื่อการลงทุนด้าน ววน. และติดตามประเมินผลสู่การใช้ประโยชน์และพัฒนาศักยภาพทั้งหมด 4 ยุทธศาสตร์ คือ ความสามารถด้านการแข่งขัน ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และการมองภาพในอนาคต
สิ่งเหล่านี้จะทำไม่ได้หากไม่มีการวางแผนและทิศทางการทำงาน ทำให้สิ่งสำคัญแรก คือ “การใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ” ข้อมูลอย่างเดียวไม่พอแต่ต้องมีระบบการวิเคราะห์ และการตัดสินใจ ในขณะเดียวกันทางด้านนักวิจัยก็มีความจำเป็นในการ “ใช้ข้อมูลเพื่อการวิจัย” ซึ่งประเทศไทยยังใช้ข้อมูลที่เป็น Big data น้อยมาก นักวิจัยบางกลุ่มด้านสังคมมักใช้ข้อมูลเชิงสถิติ จึงควรทำให้เป็นข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายขนาดใหญ่ ตอบโจทย์ของประเทศได้ รวมถึงศักยภาพการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยได้จริง และเมื่อหลังงานวิจัยออกมาแล้วนั้น “การสื่อสารงานวิจัย” ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารเชิงนโยบาย หรือสื่อสาธารณะ ที่ให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของผลงานวิจัย ท้ายที่สุดที่สำคัญมาก คือ สกสว. ต้องพึ่งพาอาศัยข้อมูลจากนักวิจัย และฐานข้อมูล NRIIS ตั้งแต่ Input ของงานวิจัย กระทั่งผลผลิต Output และผลที่เกิดขึ้น รวมถึงการติดตามผลลัพธ์ ผสมผสานกับการประเมินเชิงลึก
ยกตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์ที่ 2 โจทย์ท้าทายสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสังคมและสุขภาวะที่ดีให้กับสังคมไทย ผ่าน 9 แผนงาน เช่น เศรษฐกิจฐานราก ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ระบบสุขภาพ สุขภาวะของเมือง สิ่งแวดล้อม การหารือในวันนี้ทำให้เห็นว่า สสส. มองการขับเคลื่อนจากปลายทาง ขณะที่ สกสว. เริ่มจากต้นทาง ทำให้เราอาจต้องถอยกลับมาดูปลายทาง และสนใจเรื่อง Open data เพื่อให้ข้อมูลเข้าถึงประชาชนมากที่สุด เป็นโอกาสดีและจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง สสส. และ สกสว. ที่จะออกแบบการทำงานร่วมกันต่อไป
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของ สสส. คือการทำให้สุขภาพของคนดีขึ้น โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 พลัง ในการขับเคลื่อนเรื่องสำคัญในสังคม ได้แก่ 1. พลังปัญญา หรือพลังความรู้ เพื่อนำไปเชื่อมกับยุทธศาสตร์ที่ 2. พลังสังคม และ 3. พลังนโยบาย โดยความสำคัญในครั้งนี้คือ “พลังความรู้ / ฐานความรู้” ในการเสนอภาคนโยบายเพื่อก่อให้เกิดกติกาของสังคม นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ นำไปสู่สุขภาวะที่ดี เราต้องใช้พลังความรู้ตลอดเวลาเพื่อให้เกิดนโยบายที่ดี เพราะสุดท้ายปลายทางไม่ได้จบที่เรื่องวิจัย แต่งานวิจัยจะนำมาเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ว่าจะด้านไหนก็ตาม
ซึ่งในมุมของ สสส. มีความสนใจในด้านของสุขภาพเป็นพิเศษ ทั้งนี้ เรายังต้องการฐานข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาพัฒนาต่อ รวมทั้งการเชื่อมต่อกับ Big Data ต่าง ๆ ที่ต้องมีการทำงานร่วมกันมากขึ้น ซึ่งความต้องการของ สสส. คือความเชื่อมโยงตั้งแต่ฐานข้อมูล สารสนเทศ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อกระจายไปสู่ภาคประชาชน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในอนาคต รวมทั้งประเด็นของความเหลี่ยมล้ำในสังคมที่มีช่องว่างมากขึ้น
ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สกสว. ร่วมหารือในประเด็นแนวทางการใช้ข้อมูลด้านการวิจัยและฐานข้อมูลด้านสุขภาพ เพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ระดับองค์กร ระบุว่า ฐานข้อมูลจะเป็นตัวระบุได้ว่ายังมีความต้องการ หรือขาดด้านใดบ้างในแต่ละพื้นที่ ที่สามารถมองไปจนถึงความเหลี่ยมล้ำ รวมทั้งภาพรวมของงานวิจัย ตลอด 3 ปี ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ววน. ตัวอย่างการทำงานเชิงรุกร่วมกับทางกรุงเทพมหานคร การจับคู่งานวิจัย ววน. กับนโยบาย 9 มิติของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่มีการแปลงนโยบายออกมา เพื่อค้นหางานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ได้ ทาง สกสว. ได้จัดทีมเชิงรุกเข้าไปคุยกับผู้ว่าฯ เพื่อพัฒนาร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงด้านสุขภาพด้วย เพื่อให้สามารถดึงข้อมูลออกมาใช้ได้อย่างทันท่วงที
“คนที่เผชิญหน้างานที่ท้าทายคือ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนสังคม ซึ่งถือจิกซอว์กันคนละตัว เราจะต่อจิกซอว์กันได้อย่างไรเพราะไม่มีรูปแบบตายตัว สิ่งที่บอกได้คือ “ข้อมูลและฐานข้อมูล” ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการ machine learning การใช้ประโยชน์งานวิจัยภาระโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จากฐานข้อมูลภาระโรค ซึ่งต้องแปลงข้อมูลรายละเอียดคำนิยามโรคให้อยู่ในรูปแบบเวกเตอร์ประจำประโยค แปลงข้อมูลรายละเอียดงานวิจัย นอกจากนี้ยังใช้กระบวนการรับฟังข้อมูลจากประชาชน (social listening) นำคำบ่นของ ปชช. มาแปลงให้อยู่ในเวกเตอร์แล้วดูว่ามีงานวิจัยอะไรบ้าง มีช่องว่างอะไร”
เช่นเดียวกับ รศ. ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาระบบ ววน. ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ร่วมหารือในประเด็น กรณีศึกษาการขับเคลื่อนงานวิจัยและระบบข้อมูลสู่ชุมชนพื้นที่ ที่ สกสว. มุ่งหวัง เพื่อให้เกิดการทำงานในเชิง Eco System ตาม พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ด้วย “เทคโนโลยีที่เหมาะสม” สำหรับการพัฒนาท้องถิ่นหรือชุมชนต่อไป