วว. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ส่งเสริม การใช้ประโยชน์จุลินทรีย์โพรไบโอติก
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ประสานงานให้เกิดความร่วมมือในการใช้จุลินทรีย์โพรไบโอติก ร่วมกันพัฒนาแนวทางการจัดเก็บและดูแลจุลินทรีย์โพรไบโอติกและบริการตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยาหรือตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับจุลิทรีย์โพรไบโอติก โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ผ่านระบบไปรษณีย์ไทย
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะเป็นการดำเนินงานร่วมกันของ วว. โดย ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ศคช.) และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีขอบเขตความเข้าใจร่วมกัน ดังนี้
1) ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนางานวิจัยจุลินทรีย์โพรไบโอติก
2) ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านการวิจัยเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์โพรไบโอติก
3) สนับสนุน ผลักดัน ให้เกิดการนำผลงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบายและเชิงสาธารณะ
4) สนับสนุนคำปรึกษาด้านวิชาการหรือกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
“…ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานตามพันธกิจของ วว. ที่มุ่งวิจัยพัฒนาและบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างคุณค่ามูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจประเทศบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ตอบสนองการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน ผลักดันให้เกิดการนําไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ รับรองระบบคุณภาพ อบรมและที่ปรึกษา เพื่อยกระดับมาตรฐานและความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม …”