วช. หนุนนวัตกรรมเตาเผาศพอัจฉริยะ เพื่อลดปริมาณสารก่อมะเร็งในอากาศ
เกิด แก่ เจ็บ ตาย นับว่าเป็นวิถีทางธรรมชาติของมนุษย์ แต่ละช่วงชีวิตก็มีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต มลพิษทางอากาศทุกวันนี้นอกจากจะมาจากปัญหาหมอกควันบนท้องถนน ปัญหาการเผาป่า และ จากโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐานแล้ว ยังมีมลพิษที่เกิดจากเตาเผาศพของแต่ละวัด โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ในตัวเมือง และย่านชุมชน ด้วยเหตุนี้ทำให้คณะทีมวิจัยจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมเตาเผาศพอัจฉริยะขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่ง (วช.) ซึ่งผลจากการทดลองพบว่า มีค่ามลพิษต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมกับหน่วยงานในระบบวิจัยทั่วประเทศจัดมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 เมื่อวันที่ 1-5 สิงหาคมที่ผ่านมา ในภาคนิทรรศการได้นำผลงานวิจัยกว่า 700 ผลงานมาจัดแสดง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนวัตกรรมที่โดดเด่น สามารถนำไปต่อยอด ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน รวมถึงเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ภายใต้สโลแกน “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
พระครูสังฆรักษ์จักรกฤษณ์ ภูริปญโญ (กัติยัง), ผศ.ดร.อาจารย์ประจำภาควิชาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อ พุทธนวัตกรรมและการยกระดับคุณภาพด้วยเตาเผาศพอัจฉริยะ เพื่อลดปริมาณสารก่อมะเร็ง ทั้งนี้เนื่องจากขณะทีมวิจัยได้เล็งเห็นว่า มลพิษที่เกิดจากเตาเผาศพสาเหตุสำคัญมาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ หรือเตาเผาศพที่ไม่ได้มาตรฐาน จะเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมไปถึงเขม่าควัน และสารไดออกซิน สารฟิวแรนส์ ที่ลอยตัวอยู่ในอากาศทำให้มีผลต่อสุขภาพโดยเฉพาะโรคมะเร็ง คณะผู้วิจัยจึงได้มีการนำเทคโนโลยีจากคุณสมบัติของสารวิมุตติมาใช้กลั่นกรอง สกัดควันพิษในอากาศที่ลอยออกมาจากเตาเผาศพ เปลี่ยนจากควันดำเป็นควันขาว
พระครูสังฆรักษ์จักรกฤษณ์ ภูริปญโญ เปิดเผยว่า สารวิมุตติที่ว่านี้ได้มีผลการวิจัยมาแล้วจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ว่าสามารถลดควันพิษในอากาศ เลยนำมาพัฒนาปรับใช้กับเตาเผาศพ โดยบรรจุเป็นชนิดผงและก้อน สำหรับการศึกษาวิจัยทดลองมี 2 ระยะด้วยกันคือ ระยะแรก ได้นำสารวิมุตติ มาใช้เผาศพในเตาสองหัวเผา รวมถึงการนำสารวิมุตติในรูปผ้าห่ม ผลทดลองพบว่า ทั้ง 2 วิธี วัดค่าสมมูลความเป็นพิษสากลต่อลูกบาศก์เมตรได้ค่าต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อเทียบกับการเผาศพแบบทั่วไปที่ไม่ได้ใช้สารวิมุตติ ปรากฏว่า วัดค่าสารไดออกซินได้สูงกว่า ส่วนการทดลองระยะที่ 2 ได้มีการออกแบบและพัฒนาเครื่องพ่นสารวิมุตติ และเตาเผาศพต้นแบบ ตั้งหัวพ่นสารวิมุตติจำนวน 6 หัว โดยใช้ระบบอัตราการไหลของลมเพื่อส่งสารวิมุตติเข้าสู่เตาเผาศพ ซึ่งผลการทดลองก็พบว่า การพ่นสารวิมุตติเข้าไปในเตาเผา ทำให้ช่วยลดค่าของสารไดออกซิน และสารฟิวแรนส์ จนทำให้ค่าควันพิษต่ำกว่ามาตรฐานเช่นกัน
สำหรับค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการติดตั้งเครื่องส่งสารวิมุตติเข้าไปในเตาเผาต้นแบบอยู่ที่ประมาณ 3 แสนบาท ในอนาคตหากมีการพัฒนาขยายต่อยอดเครื่องส่งสารวิมุตติจำนวนมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าราคาต้นทุนก็จะถูกลง และขณะนี้มีโครงการนำร่องนำไปติดตั้งแล้ว 2 วัดด้วยกันคือ วัดด่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ และวัดพิรุณศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี