5 ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ คว้าแชมป์ “ไทยใส่สบาย” ต่อยอดผ้าไทยร่วมสมัย
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศผล 5 ผู้ชนะการประกวดออกแบบ เครื่องแต่งกายผ้าไทยใส่สบาย หรือ “Contemporary Fashion Competition 2022” มอบโล่รางวัลเกียรติยศให้กับ 5 ผลงานที่ชนะเลิศ พร้อมเงินรางวัลรวม 160,000 บาท ขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมพร้อมถ่ายทอดศิลปะภูมิปัญญาของแต่ละชุมชน ให้ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่นพัฒนาไปสู่สากล
การประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัย “ไทยใส่สบาย”ประจำปี 2565 ภายใต้โจทย์ในการนำผ้าไทยซึ่งถือว่าเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบให้เป็นเครื่องแต่งกายให้มีความร่วมสมัย เพื่อให้เห็นว่า ผ้าไทยสามารถนำมาตัดเย็บให้สวยงาม ใส่ได้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น วัยรุ่น วัยทำงาน และบุคคลทั่วไปก็สวมใส่ได้อย่างสบาย มีผลงานที่ส่งเข้าร่วมการประกวดกว่า 88 ภาพ ผลงานจากทั่วประเทศ ผ่านการคัดเลือกโดยเหล่าดีไซเนอร์มืออาชีพระดับแถวหน้าของไทย จนได้ผู้ชนะเลิศ 5 คนสุดท้าย โดยผู้ทรงคุณวุฒิในวงการแฟชั่นให้เกียรติเป็นคณะกรรมการ ได้แก่ คุณศิริชัย ทหรานนท์ คุณธีระ ฉันทสวัสดิ์ คุณเอก ทองประเสริฐ และที่ปรึกษาโครงการ คุณบัญชา ชูดวง โดยนักออกแบบรุ่นใหม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวของการทำงานเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ สะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมแนวความคิดของคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์
คุณนรบดี ศรีหะจันทร์ ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศ “RE อีสาน” กล่าวว่า “ก่อนอื่นคงต้องขอบคุณเวทีนี้ที่เปิดกว้าง ทำให้เราได้มีโอกาสปลดปล่อยไอเดีย ได้สร้างสรรค์ผลงานที่เราคิดไว้ในหัว แต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำ แต่ได้ทำให้เกิดขึ้นจริงและใช้ได้จริงในครั้งนี้ ซึ่งสิ่งที่นำมาเสนอเราพยายามหาจุดที่แตกต่าง เราเดาว่าคนอื่นคงนำเสนอเรื่อง Inspiration เราเลยเลือกที่จะนำเรื่องของกระแสที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ตอนในนี้คือ Fast Fashion มาบอกเล่า นำเอาประเด็นนี้มาพูด เพราะในส่วนของผ้าไทย ยังไม่เคยมีใครพูด คือ Fast Fashion ส่วนมากจะถูกพูดถึง Ready to wear หรือเป็นอะไรที่ Mass มาก ๆ ใส่ครั้งเดียว ใช้ไม่กี่ครั้งแล้วก็กลายเป็นของเก่าเก็บ หรือว่าเป็นขยะ…สำหรับผ้าไทยจริง ๆ ก็มีเหมือนกัน เลยมองว่า เราจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้นำเอาพวกเศษผ้าไทยที่คุณแม่ คุณป้านำมาตัดในร้านตัดเสื้อ เป็นพวกเศษผ้าชิ้นเล็ก ๆ ที่เขาต้องกวาดทิ้งอยู่แล้ว เป็นผ้าลายพื้นเมืองของอีสานครับ อย่างผ้าลายน้ำไหล ผ้าทอลายลูกแก้ว หรือยกดอก ซึ่งทุกอย่างเป็นเศษผ้าทั้งหมดก็เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด”
คุณไอสยา โอวาท ซึ่งคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กล่าวถึงแรงบันดาลใจว่า “คอนเซ็ปต์ มานะ มานี ปิติ ชูใจ ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือภาษาไทยที่เราเรียนในสมัยยุค 90 ซึ่งเด็กสมัยใหม่อาจไม่รู้จัก เราได้นำเอาชุดของ มานะ มานี ซึ่งเป็นชุดนักเรียนในหนังสือมาปรับให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ให้ใส่สบายยิ่งขึ้น โดยผ้าที่เราใช้เป็นผ้าไหมมัดหมี่ทอมือของจังหวัดขอนแก่น โดยใช้เทคนิคการเลเซอร์คัทตัวอักษรเนื้อหาการเรียนการสอนมาเรียงร้อยเป็นลายผ้า ชูลายเส้นตัวอักษรไทยให้แลดูมีความสนุกสนานและมีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้นครับ”
คุณรัฐพล ทองดี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เผยถึงการออกแบบว่า “ผีขนน้ำ เป็นคอนเซ็ปต์ดีไซน์ที่ได้รับแรงบันดาลใจสำคัญมาจากการละเล่นพื้นบ้านที่สืบสานกันมายาวนานของชาวบ้านจังหวัดเลย โดยการออกแบบตัดเย็บผมเลือกใช้ผ้าย้อมครามมาตัดเย็บด้วยการใช้เทคนิคแพทเวิร์กผสานเข้ากับชิ้นงานโครเชต์ที่ทำจากเส้นฝ้ายเข็นมือ ถักทอขึ้นมาด้วยลวดลายที่เรียบง่าย ที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติ รู้สึกสบาย ใส่ได้บ่อย ๆ
…กับคำว่าผ้าไทย ผมในฐานะนักออกแบบที่ในวันนี้เราต้องนำเสนอผลงานภายใต้แนวคิด ไทยใส่สบาย รู้สึกดีมากเลยครับกับการที่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งช่วยส่งเสริมในเรื่องของผ้าไทย เปิดเวทีให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพ เพราะคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยยังมีความคิดว่า คนใส่ผ้าไทยต้องมีอายุ ต้องใส่ไปวัด ใส่ไปทำบุญ แต่ตอนนี้ผ้าไทยสามารถทำให้ร่วมสมัย สามารถใส่ได้ทุกวัน ใส่ได้ทุกโอกาสแล้วในวันนี้”
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัลให้แก่ คุณฬียฑา ชลิตณัฐกุล ที่นำผ้าบาติกของภาคเหนือและภาคใต้จากกลุ่มผู้ประกอบการ เก๋ บาติก และ AKARA BATIK มาผสมผสาน ด้วยเทคนิคฟรีแฮนด์ ภายใต้แนวคิด “AFTER LIFE ความเชื่อหลังความตาย” และ คุณธนกานต์ พันธุ์สุข ที่นำผ้าฝ้ายและผ้าใยกัญชงทอมือของผู้ประกอบการใน จ.ลำปาง มาสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “ฮักหนา ก๋าไก่”
ทุกกระบวนการคือการกลั่นกรอง คัดสรร ความงดงามของผ้าไทยที่ผสมผสานกับฝีมือนักออกแบบเครื่องแต่งกายรุ่นใหม่ อันจะนำไปสู่ก้าวสำคัญของการเดินทางของผ้าไทย ที่จะถ่ายทอดความงดงามและความยิ่งใหญ่ของมรดกไทย สู่สายตาชาวโลก ขอเชิญผู้ที่สนใจกิจกรรมและโครงการของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ติดตามได้ทาง www.ocac.go.th