ผลการตัดสินการประกวด “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” ประจำปี 2565
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศผลการตัดสินการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2565 ภาพ “ซากซูเปอร์โนวา ค่ำคืนแห่งเจมินิดส์ ดาวหางลีโอนาร์ด ทางช้างเผือก และปัญจสุริยา” เป็นสุดยอดมหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในปีนี้
คุณศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. ในนามคณะกรรมการจัดการประกวด เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 17 เป็นเวทีเดียวของประเทศไทยที่เปิดให้นักดาราศาสตร์สมัครเล่น และผู้รักการถ่ายภาพจากทั่วประเทศได้มาประชันฝีมือการถ่ายภาพโดยใช้ดาราศาสตร์เป็นโจทย์ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ภาพถ่ายวัตถุในห้วงอวกาศลึก ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ วัตถุในระบบสุริยะ วิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ และปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก ภาพถ่ายที่คว้ารางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภทประจำปี 2565 ได้แก่ ซากซูเปอร์โนวา ค่ำคืนแห่งเจมินิดส์ ดาวหางลีโอนาร์ด ทางช้างเผือก และปัญจสุริยา
คุณศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแข่งขันในปีนี้จัดว่าคึกคัก และดุเดือด มีทั้งนักถ่ายภาพดาราศาสตร์มืออาชีพ และมือสมัครเล่นที่น่าจับตา ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรวมทุกประเภทมากกว่า 500 ผลงาน แต่ละภาพล้วนสวยงามมหัศจรรย์สมชื่อหัวข้อการประกวด ทั้งยังต้องอาศัยทั้งทักษะการถ่ายภาพ การประมวลผลภาพ และที่สำคัญคือความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของปรากฏการณ์ดาราศาสตร์และวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งภาพถ่ายที่ต้องการ เนื่องจากภาพถ่ายดาราศาสตร์เป็นการผสมผสานทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะ นั่นคือนอกจากจะมีความสวยงามทางศิลปะแล้ว ยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ และความสวยงามเหล่านี้เองสามารถช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้พบเห็นสนใจวิทยาศาสตร์ ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ และธรรมชาติของวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
สำหรับภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลทั้งหมดจะนำไปต่อยอดผลิตเป็นสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ ของ สดร. อาทิ ปฏิทินดาราศาสตร์ จัดทำนิทรรศการภาพถ่ายดาราศาสตร์ในโอกาสต่าง ๆ รวมทั้งเผยแพร่ในช่องทางต่างๆ ให้ประชาชนได้ยลโฉม และสัมผัสความสวยงามอันมหัศจรรย์ของท้องฟ้า ดวงดาว รวมถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง
ผลการตัดสินการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2565 หัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” มีดังนี้
1) ประเภทวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects)
รางวัลชนะเลิศ ภาพ Vela Supernova Remnant โดย คุณรัตถชล อ่างมณี
คำอธิบาย: เศษซากของซุปเปอร์โนวาในกลุ่มดาวเวลา (Vela Supernova Remnant) เกิดจากการระเบิดของซูเปอร์โนวาเมื่อ 11,000–12,300 ปี มีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าที่ใหญ่มาก การระเบิดได้ผลักดันฝุ่น และก๊าซออกมาเป็นจำนวนมาก บริเวณนี้จึงเต็มไปด้วยโครงสร้างสลับซับซ้อนมีความสวยงามมาก ใช้เวลาบันทึกภาพประมาณ 50 ชั่วโมง บันทึกภาพในย่าน ไฮโดรเจนอัลฟา(Ha) ดับเบิลไอออไนซ์ออกซิเจน(OIII)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ภาพ ARP 271 NGC 5246 and NGC 5247 โดย Mr. Michael Selby
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ภาพ Eastern Orion Nebula โดย คุณวชิระ โธมัส
รางวัลชมเชย ได้แก่ ภาพ Crab Nebula โดย คุณกิจจา เจียรวัฒนกนก
2) ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
รางวัลชนะเลิศ ภาพ Night of Geminids โดย คุณวชิระ โธมัส
คำอธิบาย: ในปี 2563 นับว่าเป็นปีทองของฝนดาวตกเจมินิดส์ เนื่องจากเป็นปีที่มีอัตราการตกค่อนข้างมาก และยังเป็นค่ำคืนที่ไร้แสงจันทร์รบกวน บันทึกภาพในคืนวันที่ 13 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลาประมาณ 21:30 น. บริเวณดอยแม่โถ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นดอยที่มีสภาพอากาศแห้ง โปร่ง จึงไม่เกิดน้ำค้างในเวลากลางคืน ทำให้สามารถเก็บภาพฝนดาวตกได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืน ใช้เวลารวมประมาณ 8 ชั่วโมง เป็นปีที่สามารถเก็บดาวตกมาเป็นจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา และสังเกตเห็นจุดศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกเจมินิดส์ที่ปรากฏในบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ได้อย่างชัดเจน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ภาพ Jupiter Moon (IO and Ganymede) Occultation and IO Eclipse with GRS โดย คุณชยพล พานิชเลิศ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ภาพ สุริยุปราคาบางส่วนที่สมุทรปราการ โดย คุณปวิธ ถาวรศักดิ์
รางวัลชมเชย ภาพ Lunar Eclipse Sequence เหนือยอดเจดีย์วัดหัวคู้ กทม. โดย คุณนราธิป รักษา
3) ประเภทภาพถ่ายประเภทวัตถุในระบบสุริยะ
รางวัลชนะเลิศ ภาพ Leonard Christmas Tails โดย คุณวชิระ โธมัส
คำอธิบาย: ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564 ดาวหาง C/2021 A1 Leonard ได้โคจรมาใกล้โลกจนสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า และสามารถบันทึกภาพได้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ในขณะที่ดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นก็เกิดการประทุ ทำให้หางฝุ่นแตกกระจายออกมา และมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน ต่อมาในวันที่ 24 ธันวาคม ก็เกิดการประทุอีกครั้งหนึ่ง เป็นการประทุที่ทำให้เกิดหางฝุ่นที่ยาวมาก
บันทึกภาพตั้งแต่วันที่ 21-25 ธันวาคม เพื่อแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของหางหลังจากเกิดการประทุขึ้นในช่วงใกล้วันคริสตมาส สถานที่ถ่ายภาพอยุ่บริเวณอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ในสภาพท้องฟ้าที่มืด และโปร่งใส ใช้วิธีบันทึกภาพดาวหางทุกวัน วันละประมาณ 20-45 นาที
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ภาพ The Symphony of Venus เทพีแห่งความงามกับท่วงทำนองอันนิรันดร์ โดย คุณชยพล พานิชเลิศ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ภาพ The portraits of our family โดย คุณกีรติ คำคงอยู่
รางวัลชมเชย ภาพ C2021 A1 Leonard (Jan 3rd, 2022) โดย คุณนราธิป รักษา
4) ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์
รางวัลชนะเลิศ ภาพ Yellowstone Hot spring โดย คุณวิษณุ บุญรอด
คำอธิบาย: อุทยานแห่งชาติ Yellowstone ในรัฐ Montana ประเทศสหรัฐอเมริกามีบ่อน้ำพุร้อนมากมาย เนื่องมาจากเป็นบริเวณที่มีลักษณะเป็นภูเขาไฟที่ยังคงตื่นตัวอยู่ ด้วยความห่างไกลจากเมืองใหญ่ และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 2,400 เมตร ทำให้ท้องฟ้ายามค่ำคืน สามารถสังเกตเห็นดวงดาว และทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจน บ่อน้ำร้อนที่อยู่ในภาพคือบ่อน้ำร้อนที่ชื่อว่า Black Pool ในตอนกลางวันจะเห็นน้ำร้อนในบ่อเป็นสีฟ้าสดใส เนื่องจากความร้อนในบ่อที่มีน้ำร้อนประกอบกับยามค่ำคืนอุณหภูมิจะลดต่ำลงอย่างมาก ทำให้บ่อน้ำร้อนที่ปะทะกับอากาศเย็นปล่อยไอน้ำออกมาในปริมาณมากและต่อเนื่อง การถ่ายภาพต้องถ่ายภาพต่อเนื่องหลายๆ ภาพ จากนั้นมาเลือกใบที่มีไอน้ำบดบังน้อยที่สุด แล้วนำภาพเหล่านั้นไปใช้เทคนิค Median stacking เพื่อลดนอยส์และยังสามารถลดไอน้ำที่บดบังได้อีกด้วย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ภาพ Long Twilight โดย คุณวชิระ โธมัส
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ภาพ ทางช้างเผือก ณ จุดชมวิวเนิน 103 ดอยผาตั้ง โดย คุณปฐมพงศ์ จันทโชติ
รางวัลชมเชย ภาพ ทางช้างเผือกกับปะการังพ้นน้ำ เกาะสุรินทร์ โดย คุณราเชนร์ วงษ์เพิก
5) ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก
รางวัลชนะเลิศ ภาพ 2565 6 14 ปัญจสุริยา โดย คุณไกรสร ไชยทอง
คำอธิบาย: ภาพที่ดูเหมือนดวงอาทิตย์ 5 ดวงนี้ คืออาทิตย์ทรงกลดแบบซับซ้อน (Complex sun halos) บันทึกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 เวลา 09:37 น. บริเวณอำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ในสภาพท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศโลกที่หาชมได้ยาก การทรงกลดนี้เกิดจากการที่แสงอาทิตย์เกิดการหักเห (Refraction) หรือสะท้อน (Reflection) โดยผลึกน้ำแข็ง (ice crystals) ที่อยู่ในเมฆระดับสูงที่เรียกว่า ซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) (ข้อมูล: บัญชา ธนบุญสมบัติ)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ภาพ Moondogs โดย คุณสุภฉัตร วรงค์สุรัติ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ภาพ Red Sprites โดย คุณภคิน ทะพงค์
รางวัลชมเชย ภาพ Omega Sun ณ อันซีนสมุทรสาคร โดย คุณทรงพล เทศกิจ