เปิดโครงการยุวชนมหิดลสิ่งแวดล้อม ภายใต้หัวข้อ “รักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่ยั่งยืน”
รศ.ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นักวิจัย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการโครงการฯ ได้ทำการเปิดโครงการยุวชนมหิดลสิ่งแวดล้อม ภายใต้หัวข้อ “รักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่ยั่งยืน”
โครงการฯ ได้ทำการคัดเลือกนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จากทั่วประเทศจำนวน 45 คนแบ่งออกเป็น 15 ทีม เข้าร่วมโครงการฯ นี้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 พฤษภาคม 2565 ณ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตกาญจนบุรี เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ กระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและปลูกฝังให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านการให้ความรู้ในประเด็นพื้นฐานเกี่ยวกับระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยการลงพื้นที่จริง เพื่อเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เยาวชนจะเป็นกลุ่มผู้นำที่สำคัญที่จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่ได้รับส่งต่อไปยังครอบครัว คนใกล้ชิด โรงเรียน ชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ
ดร.บริพัฒร ศิริอรุณรัตน์ นักวิจัยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มารับหน้าที่ประธานค่ายในปีนี้เป็นปีแรกครับ โดยก่อนหน้านี้ก็จะมีโครงการของคณะอยู่แล้ว แต่ปีนี้เป็นโครงการยุวชนมหิดลสิ่งแวดล้อม ภายใต้หัวข้อ “รักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่ยั่งยืน” โดยในครั้งนี้ ประกาศทางออนไลน์ และส่งเป็นจดหมาย โดยหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกไม่ยากก็คือ ให้นักเรียนมัธยมต้น รวมทีมกันมาทีมละ 3 คน และส่งคลิปวิดีโอเข้ามาสมัครเพื่ออธิบายว่าทำไมถึงอยากมาค่ายนี้ และมาค่ายแล้วกลับไปทำอะไรบ้าง เราก็จะมี เกณฑ์การให้คะแนนว่า ในเชิงของการสื่อสาร เชิงเทคนิคการถ่ายวิดีโอ เชิงนำเสนอที่น่าสนใจ ศักยภาพของน้อง ๆ เป็นยังไงบ้าง และในการคัดเลือก 15 ทีมจากคณะกรรมการที่มีการให้คะแนน โดยเด็กที่ผ่านการคัดเลือกจะมาจากหลายภาค เช่น ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสาน โดยนักเรียนจะมีเทคนิคในการนำเสนอ ที่ทำให้กรรมการสนใจ
หัวข้อที่นำมาสอนเด็ก ๆ ก็จะเป็นเรื่องของ ธีมใหญ่ปีนี้ เป็นธีมของ “รักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อโลกที่ยั่งยืน” เราก็มาวางโปรแกรม 4 วัน 3 คืน ว่าอยากให้น้อง ๆ รู้เรื่องของอะไรบ้างและเชิญวิทยากรสิ่งแวดล้อมประมาณ 3-4 ท่าน วิทยากรของมหาลัยมหิดลกาญจนบุรี 2-3 ท่าน โดยสอนเรื่องธรณีวิทยา สอนเรื่องพืชพรรณไม้ เขาหินปูน เพราะว่าเราใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ก็จะมีพื้นที่ที่เป็นป่า พื้นที่ที่เป็นธรรมชาติอยู่ในมหาวิทยาลัย ในวิทยาเขตของเราและเราก็มีวิทยากรจากมูลนิธิโลกสีเขียว ซึ่งมาเป็นวิทยากรสอนเรื่องนักสืบสายน้ำ โดยการตรวจวัดคุณภาพสิ่งมีชีวิตในน้ำ เทียบกับคณะสิ่งแวดล้อมสอนเรื่องการตรวจฟิสิกส์กับเคมีของน้ำ น้อง ๆ ก็จะได้รู้ว่าการตรวจสุขภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น แม่น้ำลำคลองของหลังบ้านตัวเอง หรือในชุมชนตัวเอง เขาสามารถที่จะตรวจได้ด้วยเครื่องมือง่าย ๆ จะได้รู้ว่าคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพน้ำดีหรือไม่ดียังไง โดยใช้ทั้งตัวชี้วัดทางฟิสิกส์ ทางเคมี ทางชีวะ มาประกอบกัน และเราก็มีการเดินดูนกตอนเช้าให้รู้จักสิ่งมีชีวิต มีเรื่องของครูที่มาสอนศิลปะการวาดรูปการลงสี การวาดรูปทางวิทยาศาสตร์ เราก็ใช้ในส่วนของมอสกับผีเสื้อเป็นแบบฝึกหัดให้น้อง ๆ ได้วาดเส้นลงสี และครู ทั้งทางวิทยาศาสตร์ ทั้งออกฟิลด์ลงพื้นที่ แล้วก็ใช้ศิลปะควบคู่กันไป
เด็ก ๆ ที่มาในครั้งนี้เก่งมีทักษะในเรื่องของการถ่ายคลิป การสื่อสาร การแสดงออก มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ เราไม่สามารถจะเอาคนรุ่นเก่ารุ่นก่อนมาเทียบกันได้ว่าสมัยเรา ม.ต้นมันเป็นยังไงเราไม่คิดแบบนั้น เรารู้ว่าน้องทุกคนมาด้วยความเป็นตัวของตัวเอง มีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีทักษะ และมีความรู้พื้นฐาน
สิ่งที่เราคาดหวังที่สุดคือ การสร้างแรงบันดาลใจผ่านการมารู้จักเพื่อนใหม่ ผ่านการมาใช้ชีวิตกลางแจ้ง ผ่านการมาใช้ชีวิตในป่าธรรมชาติ ในลำน้ำ ลำห้วย เจอกับสิ่งมีชีวิต กับธรรมชาติจริง ๆ กับอาจารย์ที่มีความน่าสนใจเอาเรื่องใหม่ ๆ มาเล่าให้เขาฟัง และสุดท้ายคือเรื่องของการเติมความตั้งใจในตัวเขาเอง ให้เขารู้สึกว่า ไอเดียฉันนะมันไม่ได้มีใครปฏิเสธเลย ฉันทำได้และฉันก็ทำได้ดีกว่าที่ฉันคิด เป็นเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจกับการให้ความเชื่อมั่นในตัวเขา เติมพลังและก็จุดประกายให้เขากลับมาเป็นผู้เล่าเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมที่เขาอยู่ โรงเรียนที่เขาอยู่ ครอบครัวที่เขาอยู่ จังหวัดที่เขาอยู่ต่อไป และเป็นการท้าทายให้เขาสามารถเป็นผู้นำในอนาคต ไม่ว่าจะมีเวทีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประชุมโลกร้อนระดับชาติ ระดับนานาชาติ ถ้าเขาสามารถจะร่วมได้
ดร.บริพัฒร ศิริอรุณรัตน์ กล่าวว่า คนเราก็มีความตระหนักรู้ อยากจะให้ทุกคนสนใจว่า ตอนนี้สุขภาพของโลกใบนี้เป็นยังไงบ้าง โลกก็เหมือนร่างกายของทุกคนนะครับ ตอนนี้มันป่วยอยู่รึเปล่า มันป่วยหนักมั้ยมันเป็นวิกฤตอยู่รึเปล่า มีอาการป่วยที่มันค่อนข้างจะซับซ้อนเช่น มันเป็นทั้งโรคหัวใจ โรคไต โรคมะเร็ง สมมติภาวะโลกร้อน ภาวะการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และวิกฤตของขยะกำลังอยู่รอบ ๆ ตัวเราจะทำยังไงที่ โลกใบนี้จะเป็นที่ที่น่าอยู่ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ตอนนี้คน ประชากรโลกก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ผมมีการพยากรณ์ไว้ว่าอีก 30 ปี จะมีคนจาก 4 พันล้าน เป็น 7 พันกว่าล้าน แล้วพื้นที่เท่าเดิม เราจะหาสิ่งแวดล้อมดี ๆ มาจากไหนเพราะคนก็ต้องกินทั้งข้าว มัน เนื้อ นม ไข่ ทั้งผักและผลไม้ เราจะทำเกษตรแบบไหนมารองรับคนที่จะเพิ่มขึ้นอีก 3 พันล้านคน ใน 30 ปี จะยังไงก็หนีไม่พ้นหรอกครับ ที่เราจะต้องดูเรื่องน้ำสะอาด อาหารที่ดี อาหารที่ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมที่ดีที่น่าอยู่ ที่มันไม่มีขยะไม่มีมลพิษ ไม่มีน้ำเสียที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นมา น้ำทะเลหนุนขึ้นมา น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำท่วม ขึ้นมาอีก 50 ซม. ขึ้นมาอีก 1 ม. เมืองใหญ่ต่าง ๆ ที่อยู่ริมทะเลไม่ว่ากรุงเทพฯ มันจะจมอยู่ใต้ทะเลมั้ย และเราจะอยู่กันยังไง อยากให้ทุกคนหันมาสนใจ และก็ดูว่าเราช่วยอะไรได้บ้างในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของเราในแต่ละวันทำไงให้เราสร้างขยะให้น้อยที่สุด รบกวนโลกให้น้อยที่สุด แล้วเราช่วยโลกให้มันหายจากอาการป่วยนี่ยังไงบ้าง ลดโลกร้อนยังไง กินข้าวให้หมดจาน ปลูกต้นไม้ เรื่องของวิธีการเดินทาง มาทำงานกลับบ้านให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด และทำยังไงให้โลกนี้อยู่กับเราไปนาน ๆ
อาจารย์พีรณัฐ โบกรณีย์ (อาจารย์พิเศษ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพ) กล่าวว่า โดยเริ่มแรกกิจกรรมของผมจะเป็นกิจกรรมวาดภาพวิทยาศาสตร์ ผมได้หัวข้อว่าวาดผีเสื้อ เพราะว่าสิ่งหนึ่งที่ให้เด็กวาดผีเสื้อ จะเป็นผีเสื้อกลางคืน ซึ่งเยาวชนไม่ค่อยได้เจอ เพราะผีเสื้อกลางคืน จะมีความสามารถพิเศษตรงที่บินเร็วมาก และมีหลายชนิดต้องใช้กล้องจับถ่ายรูปไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นโอกาสดีที่ให้นักเรียนได้เห็น และอีกสิ่งหนึ่งที่ครูต้องทำคือเราต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กก่อนที่จะเรียน โดยให้เด็กเกิดความอยากที่จะเรียนรู้ ก่อนทำกิจกรรม
และผมก็ได้เชิญ คุณจิระศักดิ์ เหล่าเรืองธนา เข้าร่วมเป็นผู้นำกิจกรรมเพื่อนำเด็กนักเรียนเข้าสู่บทเรียน การวาดเด็กบางคนมีพื้นฐาน และเด็กบางคนพื้นฐานไม่มีพื้นฐาน ผมจึงต้องฝึกวิธีการจับดินสอยังไง ลากเส้นยังไง แสงเงาคืออะไร ไฮไลต์ คืออะไร แต่เด็กก็วาดภาพออกมาได้
โดยโครงสร้าง วาดผีเสื้อจากประสบการณ์ที่ตัวเองวาดมา ผีเสื้อนี่มันปีกสองข้างถ้าวาดพร้อมกัน ยังไงก็ไม่เท่ากัน ต้องเริ่มจากการ วาดหัว ลำตัว ท้องก่อน วาดปีกข้างซ้ายหรือข้างขวาและมีการก๊อบปี้อีกปีกหนึ่ง ซึ่งพอออกมาก็จะเท่ากันพอดี อันนี้คือหลักการการวาดผีเสื้อ หลักการนี้เด็ก ๆ ชอบมาก และได้เรียนรู้ถึงทักษะ ว่าไม่อยากอย่างที่คิด ตอนที่เด็ก ๆ เดินดูธรรมชาติในป่าก็จะมี คุณจิระศักดิ์ ช่วยแนะนำเทคนิค การสังเกต เรื่องสีธรรมชาติ และสังเกตสภาพสิ่งแวดล้อม ของป่าให้กับเด็ก ๆ เพื่อจะนำไปวาดภาพ การวาดภาพทางวิทยาศาสตร์คือ จะต้องมีการสังเกตที่ดี และรู้หลักการ ว่าการวาดภาพวิทยาศาสตร์ต้องวัดขนาดต้องมีสเกลสัดส่วนอะไรจะต้องถูกต้อง อันนี้เป็นพื้นฐานที่ว่าเราจะไปต่อยอด เป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ โดยรู้จักสังเกต และวิเคราะห์ หรือจะไปด้านศาสตร์ของนักอนุรักษ์ก็ได้หรือจะไปทางด้านมัณฑนศิลป์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะต้องมีส่วนนี้
คุณจิระศักดิ์ เหล่าเรืองธนา Project Manager การอบรมครั้งนี้ผมได้สอนเด็ก ๆ ให้เข้าใจถึงการบันทึกธรรมชาติ ซึ่งชนิดกิจกรรม คือธรรมชาติจะมีอยู่สองช่วงด้วยกัน ช่วงวันแรก 2 ชม. เราก็เลยออกแบบไปว่าให้เด็ก ๆ ได้เขียนคัดลอกลายเส้นครับ คือวาดทับผีเสื้อ อีก 2 ชั่วโมงสุดท้ายก็จะเป็นสอนเด็กลงสีน้ำ สิ่งนี้คือการบันทึกธรรมชาติ โดยเราให้เด็กฝึกการวาดภาพผ่านการคัดลอกลายอาจจะใช้รูปผีเสื้อกลางคืนมาวาดรูปกันแทน ในส่วนนี้คิดว่าเด็ก ๆ ได้ทราบเรื่องเทคนิคในการคัดลอกลาย ในการวาดภาพวิทยาศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของการวาดภาพเหมือนกัน โดยในบางทีก็ต้องการได้ภาพวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน แต่ว่าภาพถ่ายมันไม่สามารถให้รายละเอียดตรงนี้ได้
การวาดภาพวิทยาศาสตร์จะช่วยได้เพราะสามารถจะทำให้ภาพชัดเจนได้ทุกส่วน ถ้าเป็นการถ่ายภาพ ด้วยอานุภาพของเลนส์บางทีมันชัดตรงนี้อันนี้ไม่ชัด และส่วนนี้การวาดภาพจึงต้องใช้การวาดภาพวิทยาศาสตร์มาเสริม ตรงนี้ผมได้เล่าให้เด็กเขาฟังตรงเรื่องนี้ก่อน เพราะนักวาดภาพวิทยาศาสตร์ดูผ่านการวาดภาพผีเสื้อ เด็ก ๆ ที่มาจะได้ทราบเทคนิคการวาดภาพวิทยาศาสตร์ตั้งแต่การลอกลาย เนื่องจากภาพวิทยาศาสตร์มันจะต้องแม่นยำ ชัดเจนแม่นยำ เพราะนั้นต้องใช้การลอกลาย และใช้ความรู้ทางด้านศิลปะในการลงสี ก็มีการสอนเรื่องการลงสีน้ำให้กับเด็ก ๆ และได้รับความรู้ในเรื่องของชนิดผีเสื้อต่าง ๆ เรียนรู้ธรรมชาติวิทยา ความรู้เรื่องด้านศิลปะ และที่สำคัญเด็ก ๆ ได้แน่นอนคือสมาธิในการวาดรูป ก็เป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่งในการเรียนรู้
คุณจิระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมที่ทางเราทำมีกิจกรรมหลากหลาย เป็นกิจกรรมสำหรับพัฒนาเด็ก คือการเรียนรู้โลกด้วยความสนุกสนาน ของเราจะใช้ชื่อกลุ่มว่า Kid + คิดบวก learning center เป็นผู้นำเสนอทางเลือกเพื่อการพัฒนาเด็ก โดยจัดเป็นกิจกรรมค่าย และโปรแกรมพิเศษต่าง ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิเช่น โปรแกรมอบรมวาดภาพวิทยาศาสตร์, โปรแกรมการเรียนรู้แบบ STEM ที่เรียนรู้ผ่านการออกแบบหุ่นยนต์, โปรแกรมสอนเทคนิคการเรียนแนวใหม่ “เรียนแบบคนเก่ง”, ค่ายนักสืบ IQ, ค่าย EQ ฯลฯ
รศ.ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร. บริพัฒร ศิริอรุณรัตน์ นักวิจัยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์พีรณัฐ โบกรณีย์ (อาจารย์พิเศษ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกรุงเทพ)
คุณจิระศักดิ์ เหล่าเรืองธนา Project Manager