วช. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเหมือดแอ่ สร้างผลิตภัณฑ์ฝ้ายทอมือผ้าทออีสาน สู่ตลาดโลก
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเหมือดแอ่ อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 เพื่อดูผลสำเร็จงานวิจัยสร้างสรรค์วิชาการงานศิลป์ จากผลงานโครงการวิจัย เรื่อง “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี การฟอก ย้อม พิมพ์ การออกแบบ และการสร้างผลิตภัณฑ์ฝ้ายทอมือสู่เชิงพาณิชย์” โดยมี ผศ.ดร. รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนให้วิสาหกิจชุมชนซึ่งผลิตสิ่งทอพื้นเมืองที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้ผ้าทออีสาน เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น โดยนำองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ภาครัฐมีนโยบายพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงสนับสนุนทุนวิจัยใน “โครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการฟอก ย้อม พิมพ์ การออกแบบ และการสร้างผลิตภัณฑ์ฝ้ายทอมือสู่เชิงพาณิชย์” ของ “ผศ.ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนให้วิสาหกิจชุมชน ซึ่งผลิตสิ่งทอพื้นเมืองที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถต่อยอดประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ และยกระดับผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และชุมชน โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนวิจัยที่มีความพร้อมในการสนับสนุนองค์ความรู้ไปถ่ายทอด เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต พัฒนาอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน เป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ผศ.ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้คนมีความสนใจในวิถีชุมชน วิถีชาวบ้าน ความเป็นธรรมชาตินิยม รวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งผ้าทอของอีสานก็เป็นอีกหนึ่งจุดสนใจที่กำลังได้รับความนิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น จึงควรที่จะส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานในรูปแบบต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐาน มีความเป็นสากลและเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก
โดยวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติบ้านเหมือดแอ่ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รังสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมครามที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดภาคอีสาน และเป็นแหล่งผลิตผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมครามก่อให้เกิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีครามจากธรรมชาติ อาทิเช่น ผ้าพันคอจากผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีคราม ผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้าฝ้ายย้อมสีพิมพ์สีจากใบมังคุด และผลิตภัณฑ์หมวกบักเก็ตจากผ้าฝ้ายทอมือ มีการผสมผสานวัฒนธรรมต่างชาติ ทำให้ผ้าทอมือของไทยมีรูปแบบและลวดลายที่มีความเป็นสากลและเป็นที่นิยมในต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยกระดับคุณภาพผ้าฝ้ายทอมือ หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีลุ่มน้ำโขง ชี มูล ได้อย่างยั่งยืน
ซึ่งในการดำเนินงานมีการประสานงานกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จังหวัดอุบลราชธานี ในการคัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร และจังหวัดศรีสะเกษ เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 70 คน
สำหรับการต่อยอดงานวิจัยในอนาคต จะเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศที่สนใจเทคโนโลยีนี้ โดยทางทีมผู้วิจัยได้จัดทำคู่มือองค์ความรู้ เรื่อง “การฟอก ย้อม พิมพ์ ออกแบบ และการสร้างผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือ” เพื่อใช้ในการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เช่น เว็บไซต์ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ww.nrct.go.th และคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร