อว. – บพข. ยกระดับนวัตกรรมการแพทย์ไทย หนุนศิริราช – OSS3O ผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคล ด้วยการพิมพ์สามมิติในโรงพยาบาล สำเร็จเป็นเจ้าแรกของโลก
ตอกย้ำความสำเร็จในการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริงเชิงพาณิชย์ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยความสำเร็จครั้งสำคัญของวงการแพทย์ไทย สามารถผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคล ด้วยนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติในโรงพยาบาล และใช้ในผู้ป่วยจริงได้สำเร็จเป็นเจ้าแรกของโลก (World First : Siriraj Achieves Breakthrough in Point-of-Care Manufacturing of 3D-Printed Titanium Hip Sockets with Proven Clinical Success) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยได้มีการจัดงานแถลงข่าวความสำเร็จขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยมีคุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.มหิดล ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล รศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ ผศ.ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร หัวหน้าโครงการฯ บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด ร่วมงาน ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G โรงพยาบาลศิริราช
ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากโครงการที่ บพข. ให้การสนับสนุนทุนแก่บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และบริษัท เมติคูลี่ จำกัด เพื่อพัฒนานวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์เฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ โดยมีเป้าหมายในการแก้ปัญหาข้อจำกัดของการรักษาผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อม ที่มีภาวะกระดูกเบ้าสะโพกแตกหรือสึกกร่อนรุนแรง ซึ่งไม่สามารถใช้ข้อสะโพกเทียมแบบมาตรฐานได้ จึงต้องมีการสั่งซื้อข้อสะโพกเทียมจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงมาก ใช้ระยะเวลาในการขนส่งนาน ทำให้บางครั้งไม่ทันต่อการรักษาและไม่พอดีกับร่างกายของผู้ป่วย
ดังนั้น นวัตกรรมการผลิตสามมิติเฉพาะบุคคลจึงเป็นทางออกที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเทคโนโลยีนี้จะสามารถผลิตกระดูกเบ้าสะโพกเทียมที่เฉพาะเจาะจงกับบุคคลนั้น ๆ เพื่อใช้ทดแทนกระดูกเบ้าสะโพกที่แตกหรือสึกกร่อน ซึ่งจากการทดสอบรักษาจริงกับผู้ป่วย 2 ราย นั้นได้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างมาก ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว และสามารถขยับขาได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ ความสำเร็จในการจัดตั้งโรงงานผลิตกระดูกไทเทเนียมในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นจุดบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย (Point-of-Care : POC) ช่วยลดระยะเวลาในการรอคอยของผู้ป่วยได้อย่างมาก ทั้งยังมีราคาที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ 6-7 เท่า จึงเป็นการลดเงินไหลออกนอกประเทศ
คุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า “การผลิตกระดูกเบ้าสะโพกเทียมด้วยเทคโนโลยี 3D printing และนำไปใช้ผ่าตัดผู้ป่วยจริงที่ รพ.ศิริราช เป็นครั้งแรก ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการแพทย์และนวัตกรรมไทย แสดงถึงศักยภาพและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ไทย รวมถึงความสามารถของผู้ประกอบการไทย ขอชื่นชมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล, บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด และทุกภาคส่วนที่ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ และช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตที่มั่นคงอีกครั้ง โดยเฉพาะ บพข. ที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างต่อเนื่องจนสำเร็จ เชื่อว่าความสำเร็จนี้จะเป็นแรงบันดาลใจ ให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด”
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวเสริมว่า “บพข. มีภารกิจหลักในการจัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในภาคการผลิตและภาคบริการ เรามุ่งเน้นสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โครงการผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคลนี้ เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการนำงานวิจัย Deep Tech ทางการแพทย์มาต่อยอดสู่การใช้งานจริง และเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหมอและวิศกร ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบสูง ทั้งต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย และต่ออุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศ ความสำเร็จนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทยและความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมที่ บพข. และ อว. ร่วมกันผลักดัน เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างตลาดนวัตกรรม และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับเป้าหมายในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวเสริมว่า “ความร่วมมือกับบริษัท ออส ทรีโอ จำกัด และการสนับสนุนทุนจาก บพข. ทำให้ศิริราช สามารถพัฒนานวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์สามมิติเฉพาะบุคคล ควบคู่ไปกับกระบวนการวางแผนการผ่าตัดแบบดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว การที่เราสามารถผลิตกระดูกไทเทเนียม 3 มิติได้เองภายในโรงพยาบาล ถือเป็นแห่งแรกของโลก (The First Factory in a Box at Hospital Point-of-Care) ช่วยลดระยะเวลาการรอคอยของผู้ป่วยได้อย่างมาก และเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัดที่ซับซ้อน ผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการผ่าตัดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา มีผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง นวัตกรรมนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยกระดับวงการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้าต่อไป”
ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล อธิบายถึงกระบวนการว่า “เริ่มจากการทำ CT Scan ผู้ป่วย จากนั้นทีมแพทย์ศิริราชและวิศวกรจาก บจก. ออส ทรีโอ จะร่วมกันออกแบบกระดูกเบ้าสะโพกเทียมให้เหมาะกับกายวิภาคของผู้ป่วยแต่ละราย ก่อนจะพิมพ์ชิ้นส่วนจำลอง และผลิตชิ้นส่วนจริงด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ติดตั้งภายในโรงพยาบาล ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2 สัปดาห์ นับเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญในการรักษา ช่วยให้ผู้ป่วยที่เคยหมดหวังกลับมาเดินได้อีกครั้ง”
ผศ.ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร หัวหน้าโครงการฯ บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะผู้พัฒนาเทคโนโลยี เรารู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งในความสำเร็จครั้งนี้ และเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย ในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมายกระดับการแพทย์ นวัตกรรม ‘Factory in a Box’ หรือการย่อส่วนกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนทั้งหมด ให้อยู่ในพื้นที่ขนาดเล็กเทียบเท่าตู้คอนเทนเนอร์เพียงตู้เดียว มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะทำให้เราสามารถติดตั้งระบบการผลิตภายในโรงพยาบาลได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ รองรับกระบวนการตั้งแต่การออกแบบ การผลิต จนถึงการนำไปใช้งาน ซึ่งเป็นการผลักดันให้เกิดการแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริงครับ”
โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนพื้นที่ติดตั้งเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จากศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดย รศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวว่า “ศูนย์ฯ เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความซับซ้อน จึงสนับสนุนพื้นที่ 60 ตารางเมตร สำหรับติดตั้งเครื่องมือ และพร้อมผลักดันให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจต่อไป”
ความสำเร็จในการผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคลด้วยการพิมพ์ 3 มิติ ณ จุดบริการ (Point-of-Care) นี้ ไม่เพียงแต่เป็นการปฏิวัติการรักษาผู้ป่วยโรคข้อสะโพกที่ซับซ้อน แต่ยังเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ขั้นสูง ซึ่งเป็นผลจากการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของ บพข. ในการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริง สร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน