มทร.ล้านนา เล็งปรับหลักสูตรทันสมัย-พัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมใหม่
รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของประชากรด้วยจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง ย่อมส่งผลต่อธุรกิจการศึกษาหรือจำนวนนักศึกษาเข้าสู่มหาวิทยาลัยที่ลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งยอดสมัครเข้าเรียนของกลุ่ม มทร.ล้านนา ทั้งพื้นที่เชียงใหม่ ดอยสะเก็ด ลำปาง ตาก พิษณุโลก น่าน และเชียงราย ในปีการศึกษา 2568 ทั้ง 2 รอบ มีจำนวน 4,630 คน โดยหากเปรียบเทียบกับปีการศึกษาที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีจำนวนนักศึกษาน้อยลง
“สาขายอดฮิตที่มีผู้สมัครจำนวนมาก ยังคงเป็นกลุ่มคณะวิศวกรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรรมโยธา ไฟฟ้า อุตสาหกรรม เครื่องกล และยานยนต์ไฟฟ้า รองลงมาจะเป็น คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์/บัญชี/บธ.บ.บริหารธุรกิจ อย่างการตลาดและการตลาดดิจิทัล และการจัดการธุรกิจ ตามมาด้วยคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งสาขาสถาปัตยกรรม สาขาทัศนศิลป์ ก็ได้รับความนิยม และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรสาขาธุรกิจอาหารและโภชนาการ ก็ได้รับความนิยมจากผู้เรียน ซึ่งสาขาทั้งหมดเหล่านี้ มทร.ล้านนา ได้มีการพัฒนาหลักสูตรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมในแต่ละสายงาน รวมถึงการเติมทักษะตามที่ผู้ประกอบการต้องการ”
ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทาง มทร.ล้านนา ได้มีการปรับหลักสูตรให้มีความทันสมัย เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและโครงสร้างประชากร โดยขณะนี้หลักสูตรไหนที่ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ไม่มีผู้เรียนก็จะทำการปิดหลักสูตร และเปิดหลักสูตรใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการกำลังคนของสถานประกอบการ นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ พร้อมทั้งจะขยายการลงนามความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาหลักสูตร ผลิตบัณฑิต หรือการพัฒนาทักษะของพนักงานในสถานประกอบการ ภาคเอกชนนั้น ๆ มากขึ้น โดย มทร.ล้านนา มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU ) กับภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาหลักสูตร Up Skill คนทำงาน อย่างความร่วมมือกับบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) ลำพูน ในการจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการ ซึ่งขณะนี้เข้าสู่เฟส 2 เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา กับ บริษัทฮานาฯ โดยบริษัทฯ จะเปิดโอกาสให้แก่บุคลากรระดับช่างอุตสาหกรรมมาเรียนเสริมองค์ความรู้ (Up Skill) ทางวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และระบบควบคุมอัตโนมัติ
มีความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ และดำเนินโครงการบริจาคเครื่อง Surface Mount Technology ให้กับ มทร.ล้านนา เพื่อสร้างเสริมทักษะ และจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาทั้งสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมอุตสาหการ รุ่นใหม่ มีองค์ความรู้และทักษะ ด้าน SMT (Surface Mount Technology) รองรับการขยายตัวและความต้องการกำลังคนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
รศ.ดร.อุเทน กล่าวอีกว่า การพัฒนาหลักสูตรของ มทร.ล้านนา มีทั้งความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และร่วมมือกับอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ ในการแลกเปลี่ยนบุคลากร พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกัน ซึ่งทุกพื้นที่ของ มทร.ล้านนา ไม่ว่าจะเป็น มทร.ล้านนา น่าน พิษณุโลก ซึ่งมีการจัดทำหลักสูตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตด้านการเกษตร เพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะวิชาชีพ ควบคู่กับการผลิตและนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปพัฒนาด้านการเกษตรได้ ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตรต้องตอบโจทย์ความทันสมัย ความต้องการของตลาด โดยมีทั้งหลักสูตรDegree และหลักสูตร Non-Degree มากขึ้น รวมถึงการนำศิลปะและเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานในการเรียนการสอน
“สิ่งที่เราอยากทำมากสุด เราอยากออกแบบหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะพร้อมทำงานได้จริง และมีความเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงมีหลักสูตรที่จะพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรม พนักงานสถานประกอบการต่าง ๆ ให้ได้รับการ Up-skill ผ่านโปรแกรมการเรียนที่พนักงานสามารถเลือกได้ว่า จะเรียน 2 ปีจบแล้วได้ปริญญา หรือเรียนบางสาขา บางโมดูล และสะสมหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิตแบบที่ทำร่วมกับบริษัท ฮานาฯ มากขึ้น รวมทั้งจะมีการเปิดหลักสูตร Non-Degree เพื่อฝึกอบรม และเติมสมรรถนะให้พนักงานและผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น”