ลุ้นชม “ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส” ด้วยตาเปล่า ต้นเดือนตุลาคมนี้
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชวนลุ้นชม “ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส” หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ต้นเดือนตุลาคมนี้ ช่วงที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์ที่สุดคือ ช่วงดาวหางโคจรใกล้โลก วันที่ 13 ต.ค. 67 สังเกตได้ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นต้นไป
คุณศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้จัดการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีดาวหางที่น่าติดตาม ได้แก่ ดาวหาง C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) หรือ ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ดาวหางดังกล่าวค้นพบครั้งแรกช่วงต้นปี 2566 โดยนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวจื่อจินซาน (紫金山天文台) สาธารณรัฐประชาชนจีน และระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ประเทศแอฟริกาใต้ นักดาราศาสตร์ทั่วโลกได้เฝ้าติดตามสังเกตการณ์ และพบว่าความสว่างปรากฏมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในช่วงนี้ที่ดาวหางกำลังเข้าสู่ช่วงโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์
ขณะนี้ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวพุธและดาวศุกร์ และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 28 กันยายน 2567 ระยะห่างประมาณ 58.6 ล้านกิโลเมตร (ประมาณระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพุธ) ซึ่งจะได้รับรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ จนทำให้ปลดปล่อยฝุ่นและแก๊สออกมามากยิ่งขึ้น และอาจเกิดเป็นหางที่พุ่งยาวไปในอวกาศได้ไกลหลายล้านกิโลเมตร จากนั้นดาวหางจะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 13 ตุลาคม 2567 ระยะห่าง 70.6 ล้านกิโลเมตร ช่วงดังกล่าวดาวหางจะมีความสว่างปรากฏบนท้องฟ้ามากที่สุด คาดว่าจะสว่างกว่าดาวศุกร์และอาจชมได้ด้วยตาเปล่า ก่อนที่ดาวหางจะโคจรออกห่างจากโลกไปเรื่อย ๆ และจะโคจรกลับมาอีกครั้งในอีก 80,660 ปีข้างหน้า
ผู้สนใจชมดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ช่วงนี้จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2567 จะสังเกตดาวหางได้ทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า จากนั้นดาวหางจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ไม่สามารถสังเกตได้ และจะสังเกตได้อีกครั้งประมาณวันที่ 11 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป โดยจะเปลี่ยนมาปรากฏทางทิศตะวันตก ช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ช่วงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการสังเกตการณ์คือวันที่ 13 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเข้าใกล้โลกที่สุด ดาวหางจะปรากฏสว่างและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ชิดขอบฟ้าจนเกินไป ทั้งนี้ การสังเกตการณ์ดาวหางนั้นมีความไม่แน่นอน และอาจขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ