กรมทะเล จับมือ Dow ยกระดับ “ภาคีป่าชายเลนไทย” สู่ระดับชาติ 33 องค์กรเอกชน ตบเท้าร่วมต้านโลกร้อน
13 มิถุนายน 2567 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ประกาศการยกระดับโครงการดาวและภาคีป่าชายเลนไทย หรือ “Dow & Thailand Mangrove Alliance” ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนอย่างครบวงจร ที่ริเริ่มโดยกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ร่วมกับ ทช. ไปสู่โครงการระดับชาติภายใต้การนำของ ทช. อย่างเป็นทางการ โดยขยายเป็น ภาคีป่าชายเลนประเทศไทย หรือ “Thailand Mangrove Alliance” และได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนเข้าร่วมถึง 33 องค์กรจากทั่วประเทศ
ในวันป่าชายเลนไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้จัดกิจกรรมประกาศความร่วมมือภาคีป่าชายเลนประเทศไทยร่วมกับองค์กรภาคเอกชน โดยมี พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ พร้อมด้วย ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรม ทช. ตลอดจนเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน นำโดยคุณภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการ ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เข้าร่วมแสดงพลังอย่างคับคั่ง ณ ห้องประชุมช้างเผือก องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ อ.เมือง จ.กระบี่
ทช. ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ร่วมกับองค์กรภาครัฐและภาคีภาคเอกชนทั้ง 33 องค์กรโดยยึดหลักมิติความยั่งยืน 3 เสา ประกอบด้วย
1) เศรษฐกิจ ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสีน้ำเงิน สนับสนุนการประกอบอาชีพที่ยั่งยืนในชุมชนป่าชายเลน พัฒนาศักยภาพของป่าชายเลนให้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่า สร้างมูลค่าเพิ่ม และกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน
2) สังคม ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ส่งเสริมให้ชุมชน เยาวชนมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์และจัดการป่าชายเลนอย่างมีประสิทธิภาพ
3) สิ่งแวดล้อม ปกป้องและฟื้นฟูป่าชายเลน รักษาสมดุลของระบบนิเวศ ลดมลพิษที่ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งเสื่อมโทรม ดำเนินการเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างความมั่นคงทางระบบนิเวศ
กิจกรรมนี้เป็นการรวมพลังภาคีเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน และเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง ระดมความคิดเห็นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต โดยการดำเนินงานในอนาคตของภาคีจะยังคงยึดแนวทางการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมและครอบคลุมที่เริ่มต้นโดย Dow และ ทช. เพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและขยะทะเล โดยนอกจากการปลูกป่าแล้ว ยังเน้นย้ำถึงการแบ่งปันแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืน การให้การศึกษาด้านการอนุรักษ์กับเยาวชน การสร้างมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งการปกป้องสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลน
“กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในฐานะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง จะยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นกำลังสำคัญร่วมกับ ทช. ในการผลักดันภาคีนี้ให้ก้าวหน้าไปพร้อมกับสมาชิกใหม่ ๆ ด้วยเป้าหมายในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศผ่านป่าชายเลน ซึ่งสามารถดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าป่าบกหลายเท่า”