DITP ลุยต่อ Cannes Film Festival 2024 นำคอนเทนต์ไทย ลุยตลาดเมืองคานส์
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เร่งผลักดันซอฟต์พาวเวอร์คอนเทนต์ไทยเต็มสปีด โหมลุยงานอย่างต่อเนื่อง ดันผู้ประกอบการคอนเทนต์ไทย เข้าร่วมเจรจาการค้าที่งาน Marché du Film ภายใต้งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 77 (Cannes Film Festival 2024) ซึ่งถือเป็นงานเทศกาลภาพยนตร์เบอร์หนึ่งของโลก และเป็นตลาดสำคัญที่ผู้อยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกจะต้องเข้าร่วม จากการที่มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สร้างและผู้ผลิตภาพยนตร์ในทวีปยุโรปที่มีกำลังซื้อสูง โดยในปีนี้ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 22 พฤษภาคม 2567 ในเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส มีผู้ประกอบการคอนเทนต์ไทยรวมตัวกันกว่า 12 บริษัท พร้อมด้วยสมาคมส่งเสริมคอนเทนต์วายไทยเดินทางเข้าร่วม นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเข้าร่วมเทศกาลงานภาพยนตร์ที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก
คุณภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวว่า จากความสำเร็จของงานเจรจาการค้า FILMART 2024 ที่ฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อ 11 – 14 มีนาคม ที่ผ่านมา สามารถสร้างมูลค่าการเจรจาการค้ากว่า 2,633 ล้านบาท กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้ดำเนินการตามนโยบายของคุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มุ่งหวังสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศไทยโดยอาศัยพื้นฐานทางต้นทุนวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่แล้ว มาต่อยอดให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในความหลากหลายของผลงาน รวมถึงสร้างคอนเทนต์ให้สามารถก้าวขึ้นสู่เวทีโลกได้อย่างทัดเทียมนานาประเทศทั่วโลก มีความเหมาะสมและจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน
ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญคือ การนำผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์เข้าร่วมงานสำคัญระดับโลกอย่าง Cannes Film Festival ซึ่งเก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุด งาน Cannes Film Festival ไม่ใช่แค่การประกวดภาพยนตร์ แต่ยังมีส่วนที่เป็นตลาดซื้อขายภาพยนตร์ (Market) และพิตชิง (Pitching) นำบทภาพยนตร์หรือไอเดียมาหาทุนสร้างด้วย เรียกได้ว่ามีครบทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงศิลปะ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ จึงมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากเทศกาลอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ความเก่าแก่และใหญ่โต แต่เป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่ทุกคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องเข้าร่วมไม่ว่าจะด้านศิลปะหรือด้านพาณิชย์ก็ตาม
ในส่วนของ Marché du Film ภายใต้งาน Cannes Film Festival เป็นตลาดสำคัญสำหรับผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทยและผู้ประกอบการที่ให้บริการเกี่ยวเนื่อง เพราะเป็นศูนย์รวมที่ใหญ่ที่สุดของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม และเป็นเป้าหมายสำคัญที่ผู้ประกอบการไทย จะสามารถเพิ่มโอกาสในการต่อยอดธุรกิจและเพิ่มช่องทางการค้าสู่ตลาดยุโรปและลาตินอเมริกา โดยในแต่ละปี มีบริษัทนานาประเทศทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 600 บริษัท ผู้เข้าร่วมงานกว่า 14,000 คน และมีอีเวนต์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นภายในงานอีกกว่า 200 งาน จาก 140 ประเทศทั่วโลก
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผลักดันให้จัดกิจกรรมการเจรจาการค้าภายในงานนี้เป็นประจำทุกปี ด้วยเล็งเห็นว่า ยุโรปและลาตินอเมริกาเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ถือเป็นโอกาสทองที่เหล่าผู้ประกอบการคอนเทนต์ไทยจะได้แสดงศักยภาพ เปิดโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งงานเจรจาการค้าครั้งนี้จะจัดขึ้นภายใต้คูหาประเทศไทย (Thailand Pavilion) ระหว่างวันที่ 14 – 22 พฤษภาคม 2567 นี้ สำหรับปีนี้ มีผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 12 บริษัท ซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์และแอนิเมชัน (Film Production and Distribution) 9 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัท กันตนา โมชั่นพิคเจอร์ส จำกัด 2) บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด 3) บริษัท เนรมิตหนัง ฟิล์ม จำกัด 4) บริษัท ไนท์ เอดจ์ พิคเจอร์ส คอร์ปอเรชั่น จำกัด 5) บริษัท แบรนด์ธิงค์ จำกัด 6) บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 7) บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด 8) บริษัท ฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด 9) บริษัท ไร้ท์ บิยอนด์ จำกัด ผู้ผลิตรายการและละครโทรทัศน์ (Television Content and Formats) 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท เฮโล โปรดักชั่น จำกัด นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้บริการเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และวิดีทัศน์ (Production and Post Production Services) เข้าร่วม 2 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัท เบนีโทน ฟิล์มส์ จำกัด 2) บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าการค้าไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท