สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานการประชุมประจำปี 2566 ครั้งที่ 2 ของคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 เวลา 9:00 น. วังสระปทุม กรุงเทพฯ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโครงการ เทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2538 และมีพระราชกระแสรับสั่งเปลี่ยนไปเป็นมูลนิธิในปี 2558 ทั้งนี้ เพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศรวมทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นไปลดความเหลือมล้ำของสังคม กลุ่มเป้าหมายหลักประกอบด้วยผู้ด้อยโอกาสในสังคม 4 กลุ่มได้แก่ เด็กนักเรียนในชนบท ผู้พิการ เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล ผู้ต้องขังและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
การประชุมประจำปีครั้งที่ 2 นี้ นอกเหนือจากคณะกรรมการและที่ปรึกษามูลนิธิฯ จำนวน 11 คนแล้ว ยังมีทั้งผู้บริหารและนักวิจัยไทย เข้าร่วมประชุมทั้งออนไซต์และออนไลน์อีก 67 คน รวมทั้งสิ้น 78 คน วาระการประชุมมีทั้งสิ้น 6 วาระ (ประกอบด้วยวาระย่อยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 10 วาระ)
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงความก้าวหน้าปี 2566 ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่
(1) การนำผลงานวิจัยเครื่องคอมพิวเตอร์ 3 มิติแบบลำรังสีทรงกรวยซึ่งวิจัยพัฒนาและสร้างขี้นในประเทศไทยเพื่อประโยชน์ในการวางแผนผ่าตัดคนไข้ปากแหว่งเพดานโหว่ที่ “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะมูลนิธิเทคโนโลยีสารนเทศตามพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” และ “ศูนย์ตะวันฉาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น”
(2) การติดตั้งและบำรุงรักษาระบบผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์และระบบสื่อสารอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนแก่โรงเรียน ตชด. ในถิ่นทุรกันดารบริเวณใกล้ชายแดนเมียนมาร์ 23 แห่ง โรงเรียนเหล่านี้ไม่มีระบบไฟฟ้าสายส่งและอินเทอร์เน็ตที่คนในเมืองใหญ่คุ้นเคยเข้าถึงมาก่อนเลยหลายปี จนกระทั่งจนปัจจุบัน
(3) การจัดหาน้ำบริโภคอุปโภคและการเกษตรสะอาดให้แก่โรงเรียน ตชด.บ้านเทพภูเงิน อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี และชุมชนใกล้เคียง ที่ประสบปัญหาแหล่งน้ำดิบปนเปื้อนสารเคมีกำจัดวัชพืชตลอดจนการเริ่มก่อสร้างถนนและไฟฟ้าสายส่งให้เข้าถึงโรงเรียนและชุมชนอีกด้วย
(4) การช่วยเหลือคนพิการ 24 คน หลายคนปราศจากแขนขาตั้งแต่กำเนิดและไม่มีตอแขนที่จะต่อขาเทียมแขนเทียมได้ บางคนพิการรุนแรงปากเปิดไม่ได้ตั้งแต่กำเนิดต้องการแพทย์ที่ชำนาญพิเศษช่วยผ่าตัดแก้ไขเปิดปากเพื่อรับประทานอาหารเหมือนคนปกติ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ได้รับศึกษาให้สูงสุดเพื่อออกไปประกอบอาชีพดูแลตนเองไม่เป็นภาระผู้อื่น นอกจากนี้ยังช่วยดูแลการทำมาหากินของครอบครัวอีกด้วย
(5) การเรียนและฝีกโปรแกรมมิงบนบอร์ดคอมพิวเตอร์ชื่อ Kidbright วิจัยพัฒนาโดยคนไทยให้แก่นักเรียนในโรงเรียนชนบท สามเณรในโรงเรียนปริยัติธรรม นักเรียนในโรงเรียนอิสลามตลอดจนนักเรียนในโรงเรียนคนพิการ เพื่อทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว เช่น เครื่องเตือนอัคคีภัยน้ำท่วม เตือนภัยในการขับขี่จักรยาน เป็นต้น
(6) การใช้คอมพิวเตอร์สอนควบคู่กับการเล่นเกมให้แก่เด็กป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล ไม่ให้เบื่อหน่ายและเมื่อหายป่วยแล้วก็กลับไปเรียนต่อในระบบปกติได้ ปัจจุบันมีผู้ป่วยราว 50,000 คน ในโรงพยาบาล 90 แห่งทั่วประเทศ
(7) การสอนผู้ต้องขังและเด็กและเยาวชนในเรือนจำ ทัณฑสถาน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้มีทักษะด้านคอมพิวเตอร์ เมื่อพ้นโทษแล้วสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อได้ ปัจจุบันเข้าร่วมโครงการถึง 139 แห่งทั่วประเทศ นอกจากทรงช่วยเหลือพศกนิกรชาวไทยแล้ว ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ช่วยเหลือเพื่อนบ้านใกล้เคียงด้านการศึกษา ได้แก่
(8) การติดตั้งและบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ให้แก่สถาบันเทคโนโลยีกำปงสปือ ราชอาณาจักรกัมพูชาและ
(9) การพระราชทานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พร้อมอาคารและอุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์พร้อมอาคาร แก่โรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
การทำงานของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ดังกล่าวข้างต้นลุล่วงด้วยดีประชาชนได้รับประโยชน์ตลอดระยะเวลาเกือบร่วม 30 ปีนั้น ก็ด้วยความเลื่อมใสในพระบารมีของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระเมตตาต่อปวงชนชาวไทยที่ด้อยโอกาสรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้บรรดาหน่วยงานภาครัฐทั้งระดับกระทรวง กรมกอง จังหวัด อำเภอและตำบล รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยรวมทั้งมูลนิธิทั้งหลาย ต่างร่วมมือร่วมใจให้การสนับสนุนทั้งกำลังกาย กำลังใจ ความรู้สติปัญญาและกำลังทรัพย์ ในทุกโครงการของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน