ประกาศความสำเร็จ! บพข.–วีกรีน และ สมอ. ผลักดัน 26 บริษัทไทย ผ่านมาตรฐาน CEMS ครั้งแรกของประเทศ พร้อมก้าวสู่ตลาดโลก
ก้าวแรกความสำเร็จในการผลักดันนโยบาย CIRCULAR ECONOMY และ SDGs หลังจาก ‘วีกรีน’ และ ‘สมอ.’ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มี MOU ในการพัฒนามาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร (Circular Economy Management System; CEMS) ครั้งแรกของประเทศไทย ร่วมกับ 30 บริษัทนำร่อง เมื่อปลายปี 2565 ภายใต้การสนับสนุนของ ‘บพข.’ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ล่าสุด ได้มีการแถลงข่าว “CIRCULAR ECONOMY : From Policy to Practice for Business Organizations” ประกาศความสำเร็จในการผลักดัน 26 บริษัทแรก ให้สามารถผ่านมาตรฐาน CEMS พร้อมทั้งการพัฒนาหน่วยตรวจรับรองและบุคลากรตรวจประเมินด้านการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรกว่า 500 คน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคเอกชนไทยในการทำตลาดกับคู่ค้าธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากรที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายประเทศได้ออกข้อกำหนดและเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่และมีศักยภาพสูง ได้มีการออกมาตรการเก็บภาษีเพิ่มสำหรับสินค้าที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม และมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงในกระบวนการผลิต ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั่วโลก ดังนั้นภาครัฐและผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้กระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนได้ตามเกณฑ์ โดยอาวุธทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทยนำมารับมือและต่อยอดในเรื่องนี้ คือการผลักดันเศรษฐกิจด้วยโมเดล ‘BCG’ มุ่งเน้นไปที่ 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ Bio Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy และเศรษฐกิจสีเขียว Green Economy เพื่อผลักดันภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมุ่งไปสู่ Net Zero Emissions
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากลูกค้า/คู่ค้า สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ “ระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร (Circular Economy Management System; CEMS)” มตช. 2 เล่ม 2 เพื่อให้ภาคธุรกิจใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการจัดทำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร และได้ร่วมมือกับ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (วีกรีน) โดยมี รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการ วีกรีน เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้การสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวง อว. ในการพัฒนาระบบดังกล่าวให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ สามารถผลักดันให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เกิดประสิทธิผลและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการรับสมัคร ผู้ประกอบการ ที่ปรึกษา หน่วยรับรอง (Certification Body) และหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation Body) เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ด้วยเพื่อให้ครอบคลุมทั้งโครงสร้าง
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า “เป้าหมายของโครงการนี้ เป็นการยกระดับการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การประยุกต์ใช้จริงตามข้อกำหนดของมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ เป็นการพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองสำหรับระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรครั้งแรกของประเทศไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและสากล และมีคู่มือแนวทางเชิงปฏิบัติที่ดีของระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรสำหรับอุตสาหกรรมที่สนใจ โครงการนี้มีการสร้างองค์ความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางเชิงปฏิบัติและการแสดงความสอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐาน CEMS อีกทั้งยังเป็นการสร้างกำลังคนด้านระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรสู่การขยายผลให้มีการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมในวงกว้าง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งตอบโจทย์ SDG 9, SDG 12 และ SDG 13 ของประเทศด้วย”
รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการ วีกรีน คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวเสริมว่า “โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและสากล ตลอดจนจัดทำคู่มือแนวทางเชิงปฏิบัติที่ดีของระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรตามข้อกำหนดของมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ โดยมีการรับสมัครบริษัทนำร่องเข้าร่วมโครงการฯ นำข้อกำหนดของมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรไปปฏิบัติจริง ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การลดปริมาณของเสีย และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก พร้อมรับการตรวจประเมินจากผู้ตรวจประเมินภายนอก ซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 และผ่านการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรเป็นกลุ่มแรกของประเทศไทย จำนวน 26 บริษัท นอกจากนี้ยังได้พัฒนาผู้มีความสามารถในการเป็นที่ปรึกษา (Consultants) พัฒนาผู้ตรวจประเมิน (Auditors) จากหน่วยตรวจรับรอง (CB: Certification Body) ที่พร้อมดำเนินการขยายขอบเขตการให้บริการตรวจประเมินและให้การรับรอง CEMS สอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐาน เพื่อเป็นการยกระดับสถานประกอบการที่ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ”
คุณวีระศักดิ์ เพ้งหล้ง ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ สมอ. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้น การสร้างกำลังคน โดยเฉพาะที่ปรึกษา จะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำไปสู่การขยายผลให้มีการประยุกต์ใช้มาตรฐานในภาคอุตสาหกรรมในวงกว้าง เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบาย CE อย่างเป็นรูปธรรม ในโครงการนี้ ได้มีการจัดอบรมภาคทฤษฏีเกี่ยวกับที่มาของการพัฒนาข้อกำหนดและการตีความข้อกำหนดสู่แนวทางเชิงปฏิบัติ รวมทั้งภาคปฏิบัติ ผ่านการเป็นที่ปรึกษาของบริษัทนำร่อง เพื่อพัฒนาที่ปรึกษาให้มีองค์ความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางเชิงปฏิบัติและการแสดงความสอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร จำนวน 34 คน แบ่งเป็น บริษัทที่ปรึกษา 6 บริษัท รวม 23 คน ที่ปรึกษาอิสระ 5 คน และอาจารย์จากมหาวิทยาลัย 6 คน โดยจะประกาศรายชื่อที่ปรึกษาบนเว็บไซด์ของ สมอ. เพื่อเป็นข้อมูลให้กับโรงงานอุตสาหกรรม”
รายชื่อหน่วยตรวจรับรอง (CB : Certification Body) ที่เข้าร่วมโครงการและพร้อมให้บริการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร
1) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. (TISTR)
2) สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI)
3) บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด (SGS)
4) บริษัท บูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด (Bureau Veritas)
บพข. มีเป้าหมายที่จะปิดช่องว่างและเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องหลักในห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้รีไซเคิล เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย จึงได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยดังกล่าว ภายใต้แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมี วีกรีน เป็นผู้ดำเนินงาน ร่วมกับ สมอ. ที่สนับสนุนทุนวิจัยในรูปแบบ in-kind ซึ่ง บพข. คาดหวังว่าระบบ CEMS จะเป็นเครื่องมือและกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การลดการใช้ทรัพยากร การลดปริมาณของเสีย ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ตลอดจนทำให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับภูมิภาค