“ฝนดาวตกเจมินิดส์” 2566 ตื่นตาทั่วไทย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยฝนดาวตกเจมินิดส์ปีนี้มีปริมาณมากสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง บรรยากาศเฝ้าชมปรากฏการณ์คืนวันที่ 14 – รุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2566 ชาวไทยทั่วประเทศไม่ผิดหวัง เริ่มเห็นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ เนื่องจากไร้แสงจันทร์รบกวน บางดวงมีลักษณะเป็นลูกไฟขนาดใหญ่พาดผ่านฟ้าสวยงามมาก ด้านสื่อสังคมออนไลน์คึกคักขึ้นอันดับเทรนด์ไทยยอดนิยม
คุณศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกอย่างมาก เนื่องจากไร้แสงจันทร์รบกวนตลอดคืน ผู้ที่อยู่ในเขตพื้นที่ปราศจากแสงรบกวน มีทัศนวิสัยท้องฟ้าดี ไม่มีเมฆบดบัง สามารถชมความสวยงามของฝนดาวตกกันได้อย่างเต็มตา ซึ่ง สดร. ได้จัดกิจกรรมชมฝนดาวตกเจมินิดส์ที่สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,300 คน ปักหลักชมฝนดาวตกกันเต็มพื้นที่ สามารถสังเกตฝนดาวตกได้หลายดวง และเห็นดาวตกชนิดลูกไฟ (Fireball) หลายสิบดวง เมื่อมีผู้พบเห็นฝนดาวตกก็ต่างส่งเสียงร้องชี้ชวนกันให้ดู สร้างบรรยากาศที่สนุกสนานและน่าประทับใจตลอดคืน
ทั้งนี้ สดร. ยังจัดกิจกรรมที่หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนทั้ง 4 แห่ง ในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา และสงขลา นอกเหนือจากการชมฝนดาวตกแล้ว ยังตั้งกล้องส่องวัตถุท้องฟ้าในคืนดังกล่าว อาทิ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี กาแล็กซีแอนโดรเมดา เนบิวลานายพราน เป็นต้น มีผู้สนใจเดินทางเข้าร่วมจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พื้นที่บริเวณภาคใต้ของประเทศไทยมีเมฆมากและฝนตก จึงสังเกตการณ์ได้ค่อนข้างยาก
ฝนดาวตกเจมินิดส์หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ จะเกิดในช่วงระหว่างวันที่ 4 – 20 ธันวาคม ของทุกปี มีศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ เกิดจากโลกเคลื่อนผ่านสายธารของเศษหินและฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) หลงเหลือทิ้งไว้เมื่อครั้งเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงดูดเศษหินและฝุ่นเหล่านั้นเข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ปรากฏให้ผู้สังเกตการณ์บนโลกเห็นเป็นลำแสงคล้ายลูกไฟสว่างวาบเคลื่อนผ่านท้องฟ้า
สำหรับฝนดาวเจมินิดส์ในครั้งถัดไป คาดว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงระหว่างวันที่ 13 – 15 ธันวาคม 2567 อย่างไรก็ตาม ในช่วงดังกล่าวจะมีแสงจันทร์รบกวน จึงไม่เหมาะต่อการสังเกตการณ์ ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลปรากฏการณ์น่าติดตามอื่น ๆ ได้ทางเพจเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ