บทเพลงพระราชนิพนธ์ กระหึ่มทั่วประเทศ กระทรวง อว. บรรเลงเพลงของพ่อ เทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในหลวง ร.9
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน “ดนตรีในสวน : H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ” เทิดพระเกียรติ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 5 ธันวาคม 2566 วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ ที่ สวนหลวงพระราม 8 เชิงสะพานพระราม 8 ติดริมน้ำเจ้าพระยา ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางพลัด เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 เวลา 17.00 น.
โดยมีคุณศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. เป็นประธาน พร้อมมีคุณจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ ผู้บริหาร อว. และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำบุคลากร วช. เข้าร่วมงาน โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก มีวงดนตรีสากล KU BAND จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ นำบทเพลงพระราชนิพนธ์อันแสนไพเราะ มาร่วมขับร้องและบรรเลงเพลง อาทิ ใกล้รุ่ง ยามเย็น เสี่ยงรัก พร้อมกับบทเพลงร่วมสมัย อาทิ ในหลวงของแผ่นดิน แก้วเกษตร หลงคอย เป็นต้น
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. กล่าวรายงานว่า อว. จัดงาน “ดนตรีในสวน : H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ” เพื่อแสดงดนตรีบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั่วประเทศ ซึ่งกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การแสดงดนตรี H.M.song อว.บรรเลงเพลงของพ่อ การเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้แก่ การแสดงโขน การแสดงบินโดรนแปรอักษร การแสดงการวาดภาพ และศิลปกรรมช่างไทย และการแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบิดาแห่งศาสตร์ต่าง ๆ 9 ด้าน และพระอัจฉริยภาพด้าน การดนตรี ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และด้านการช่างไทย โดยในปีนี้ อว. มีการจัดงานมากกว่า 62 จังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีสถาบันการศึกษา และหน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วม เช่น โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และส่วนราชการอื่น ๆ ในพื้นที่มากกว่า 75 องค์กรเข้าร่วม
รมว.อว. กล่าวเปิดงานว่า วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสําคัญของประเทศใน 3 โอกาส ได้แก่ วันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ เพื่อรําลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงอุทิศพระวรกาย พระราชหฤทัย และพระสติปัญญาของพระองค์ บําเพ็ญพระราชกรณียกิจ อันยังประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรของพระองค์มาโดยตลอด รัฐบาลจึงได้น้อมนําพระปฐมบรมราชโองการมาเป็นเข็มทิศนําทางในการบริหารประเทศ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว และก้าวกระโดด อันมีความท้าทายให้กับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และได้กลายเป็นปณิธานที่สะท้อนผ่านพระปฐมบรมราชโองการ ในการกําหนดภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่รัฐบาล จะต้องกําหนดทิศทางในการพัฒนาจุดแข็งของประเทศ โดยมอบหมายนโยบายการดําเนินงานผ่านข้าราชการ ได้ทําสิ่งที่ดีให้กับผืนแผ่นดินไทย เพื่อเป็นแผ่นดินทอง เป็นสุวรรณภูมิที่ประชาชนมีความอยู่ดี กินดี มีชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
“นอกจากนโยบายต่าง ๆ ในเชิงการพัฒนาประเทศแล้ว การศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรม ก็ถือเป็น “Soft power” ที่สําคัญต่อการสร้างคน สร้างประเทศ และเป็นแรงผลักดันสําคัญของประเทศไทยสู่เวทีโลก วันนี้จึงเป็นการนําพลังด้านดนตรีที่ซึ่งเป็น Soft power ที่รัฐบาลให้ความสําคัญ มีศักยภาพอันโดดเด่นของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ นํามาถ่ายทอดความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางดนตรี ทรงเป็นสังคีตกวี และนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลงแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิดและทรงซ่อมเครื่องดนตรี ตลอดจนทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน”
“การจัดแสดง “ดนตรีในสวน : H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ” อว.จะจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเทิดพระเกียรติต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นที่รักของประชาชนชาวไทยทุกคน”
จากนั้น ได้มีการใช้โดรนกว่า 100 ลำ จากสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บินแปรอักษรเป็นคำว่า “ร.9” เรียกเสียงฮือฮาจากผู้มาร่วมงานอย่างมาก ต่อมา รมว.อว. ได้ร่วมรับฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์พร้อมกับประชาชนจนกระทั่งเสร็จสิ้นงาน