GISTDA ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เปิดนิทรรศการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น “Opening Ceremony of 5th Year Anniversary of Thailand-Japan Space Collaboration Activities”
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ The National Space Policy Secretariat (NSPS), สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น (Cabinet Office of Japan) ร่วมเปิดนิทรรศการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น “Opening Ceremony of 5th Year Anniversary of Thailand-Japan Space Collaboration Activities” เพื่อร่วมส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอวกาศไทยผ่านเทคโนโลยีดาวเทียมสู่ระดับสากล ณ Space Inspirium อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 โดยมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ให้การต้อนรับ คุณ Hiroshi Yamakawa President of JAXA, คุณ Jun Kazeki อธิบดีสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นและคณะผู้บริหารไทย-ญี่ปุ่น ร่วมเปิดนิทรรศการฯ
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า นิทรรศการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลง “Strategic Partnership” จากทั้งสองรัฐบาล เป็นความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรที่ต้องการให้ผู้ประกอบการในทุกระดับของทั้ง 2 ประเทศ ได้ร่วมมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน ส่งเสริม ตลอดจนประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอวกาศไทยให้เกิดความยั่งยืน และเป็นการสร้างโอกาสสำคัญที่จะได้พบปะ สร้างเครือข่ายกับหน่วยงานพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่นกว่า 30 หน่วยงาน และทั้ง 2 ประเทศได้มีนโยบายกำหนดแนวทางและแผนงานดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ข้อมูลดาวเทียมนำทาง (Global Navigation Satellite System) รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคสังคม ในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ศูนย์ข้อมูลสถานีค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่อง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงานต่าง ๆ เช่น งานสำรวจเพื่อจัดทำแผนที่ งานรังวัดและจัดทำแปลงที่ดิน งานด้านวิศวกรรมและก่อสร้างสาธารณูปโภค งานด้านภัยพิบัติ งานด้านบริหารจัดการน้ำ งานด้านคมนาคมขนส่งและยานยนต์ไร้คนขับ งานด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) และงานด้านความมั่นคง โดยมีการสาธิตนวัตกรรมจากบริษัทชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่นมากมาย
สำหรับด้านการพัฒนาของเทคโนโลยีอวกาศอย่างดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth orbit Satellites) GISTDA และ JAXA ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ในการใช้งานที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เช่น การให้บริการการสื่อสารผ่านดาวเทียมสื่อสารทางไกล (IoT Satellite) การสื่อสารทางไกลด้วยเครือข่ายวงกว้าง (Low Power Wide Area) การให้บริการระบุตำแหน่งพร้อม Short Message ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดด้านสัญญาณอินเทอร์เน็ต ด้วยดาวเทียม Quasi-Zenith Satellite System (QZSS) จากประเทศญี่ปุ่น โดยพัฒนาการทำงานร่วมกับดาวเทียม Spectrometer ตลอดจนล่าสุดอย่างดาวเทียม THEOS-2 เพื่อขยายการบริการในด้านอื่น นอกเหนือจากด้านการระบุ ตำแหน่งและนำทาง
ในงานนี้จะสร้างพันธมิตรในการพัฒนานวัตกรรมนำร่องในประเทศไทยและในภูมิภาค ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีบริหารจัดการตรวจับและแจ้งเตือนไฟป่า เทคโนโลยีติดตามวัตถุทางทะเล และการคมนาคมทางอากาศยาน รวมไปถึงการพัฒนาและติดตามเกษตรรายแปลง โดยสร้าง Global Partnership กับประเทศญี่ปุ่นกว่า 8 ราย ได้แก่ PASCO Corporation, SONY Group Corporation, SoftBank Corp, SKY Perfect JSAT, Green Carbon, LocationMind, Mitsubishi Electric Asia, Glodal และ Nippon Koei และเครือข่ายความร่วมมือ Japan-Thailand Geospatial Cooperation Council โดยหน่วยงานได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดงาน นิทรรศการดังกล่าว เพื่อให้เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนบ่มเพาะและสนับสนุนให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ GNSS สำหรับผู้ประกอบการในไทย