ไบโอเทค สวทช. เปิดตัว SOP ทุเรียน แนวทางแก้ไขโรคและแมลงด้วยชีวภัณฑ์ รองรับนโยบาย Thai go Green ภาคการเกษตรของรัฐบาล

ไบโอเทค สวทช. เปิดตัว SOP ทุเรียน แนวทางแก้ไขโรคและแมลงด้วยชีวภัณฑ์ รองรับนโยบาย Thai go Green ภาคการเกษตรของรัฐบาล

ตามที่รัฐบาลสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยไม่สร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจ “การฟื้นฟูสีเขียว หรือ Green Recovery” ซึ่งเป็นแนวทางและมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเจริญเติบโตแบบยั่งยืน รวมทั้งสอดคล้องตามนโยบาย “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และ “เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ” ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้การนำของคุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.

นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง ได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลทางด้านการเกษตร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เรียนรู้การจัดการโรคและแมลงในทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based) : การจัดการทำแบบมาตรฐานจัดการศัตรูพืช (Standard Operating Procedure: SOP) โดยใช้ชีวภัณฑ์แบบผสมผสานในพืชเศรษฐกิจ ทุเรียน” ซึ่งได้รวบรวมองค์ความรู้เป็น SOP คู่มือการจัดการศัตรูทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อช่วยให้เกษตรกร ดูแลรักษาทุเรียน จากโรคและแมลงศัตรู โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าที่เป็นปัญหาร้ายแรง รวมถึงส่งเสริมให้ใช้ชีวภัณฑ์อย่างเหมาะสม ถูกวิธี และถูกเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ตามการระบาดของศัตรูพืช ช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีและลดปัญหาการตรวจพบสารเคมีตกค้าง ไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับทุเรียนสู่ตามมาตรฐานส่งออก

โดยมีคุณอุบล มากอง ผอ.สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผอ.ไบโอเทค และคุณวรนุช สีแดง เกษตร จ.ระยอง ร่วมเปิดงาน พร้อมด้วยคุณกฤษฎา ฉิมอินทร์ ผอ.ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จ.ชลบุรี ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รอง ผอ.ไบโอเทค และนักวิจัยไบโอเทค นำโดย ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน และทีมวิจัย ตลอดจนผู้นำชุมชมและเกษตรกรจำนวนมากเข้าร่วมในงาน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเติบโตแบบยั่งยืน เป็นเป้าหมายสำคัญในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในการขับเคลื่อนภาคการเกษตร ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพสูงมาก ทั้งจุลินทรีย์ พืช และสัตว์

โดยทางทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. ได้ทำการศึกษาความหลากหลายของสายพันธุ์จุลินทรีย์ มุ่งเน้นค้นหาและศึกษาความเป็นประโยชน์ของจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตร มุ่งเน้นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นชีวภัณฑ์ การย่อยสลายวัสดุเหลือทิ้งจากไร่นา และจุลินทรีย์การกระตุ้นการเจริญเติบโตและการดูดซับธาตุอาหารที่มีประสิทธิภาพ ในปัจจุบันไบโอเทค สวทช. มีคลังจุลินทรีย์ของประเทศ (TBRC) ที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้น ๆ ของเอเชีย

จากการวิจัยยาวนานกว่า 20 ปี ทำให้สามารถคัดกรองและคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช โรคและแมลงสำคัญในพืชเศรษฐกิจของประเทศ และผลักดันการใช้ประโยชน์ ชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืช เช่น ราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) สำหรับควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไก่แจ้ แมลงหวี่ขาว ฯลฯ และราเมตาไรเซียม (Metarhizium) สำหรับควบคุมไรแดงชนิดต่าง ๆ ชีวภัณฑ์จากแบคทีเรียและราเพื่อควบคุมโรคพืช ได้แก่ ราไดรโคเดอร์มา (Trichoderma) ควบคุมราก่อโรคพืชต่าง ๆ เช่น โรครากเน่า-โคนเน่าจากเชื้อราไฟทอปธอร่า เป็นต้น ซึ่งชีวภัณฑ์เหล่านี้หากได้รับการส่งเสริมการใช้อย่างเหมาะสมไปสู่เกษตรกร จะเป็นการลดการใช้สารเคมีในอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ สนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ด้านนักวิจัย ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจโรคและแมลงศัตรูที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่จังหวัดระยอง และทดสอบประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์ในการจัดการสวนทุเรียน ทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการระบาดของโรคและแมลงสำคัญ เพื่อสร้างองค์ความรู้และกระบวนการจัดการปัญหาโรคและแมลงในสวนทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมีที่มีอันตราย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนอินทรีย์หรือทุเรียนปลอดภัย และส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกร แรงงานไทยและต่างชาติ รวมถึงผู้บริโภค และลดการปนเปื้อนของสารเคมีเกษตรสู่แหล่งน้ำหรือสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลเสียทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมสัตว์น้ำและการท่องเที่ยวด้วย

พื้นที่สวนคุณสันติ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ทดสอบการใช้ชีวภัณฑ์ระดับแปลงและจัดทำเป็นแปลงสาธิตแสดงประสิทธิภาพของสารชีวภัณฑ์แก่ผู้ปลูกทุเรียน โดยมีเป้าหมายในการแก้ปัญหา ยุติความสูญเสียจากการยืนต้นตายของต้นทุเรียน โดยทีมวิจัยได้ทำการสำรวจโรคและแมลงที่เป็นปัญหาในแปลง พูดคุยสร้างความเข้าใจและถ่ายทอดความรู้เรื่องชีวภัณฑ์กับคุณสันติและคุณพ่อ รวมไปถึงคนงานที่อยู่ในสวนอย่างใกล้ชิด

การทดสอบประสิทธิภาพของการใช้ชีวภัณฑ์แบ่งเป็นสามกรรมวิธี กรรมวิธีละ 1 ไร่ ประกอบด้วย กรรมวิธีใช้สารชีวภัณฑ์อย่างเดียวตามการระบาด กรรมวิธีผสมผสานชีวภัณฑ์และสารเคมี และกรรมวิธีดั้งเดิมตามแนวทางของเกษตรกรที่ใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียว โดยเริ่มการทดสอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-ปัจจุบัน พบว่า ชีวภัณฑ์มีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงศัตรูได้ดีหรือเทียบเท่าสารเคมี และยังพบการเพิ่มขึ้นของแมลงศัตรูธรรมชาติที่มีประโยชน์ (แมลงดี) ในแปลงที่ใช้ชีวภัณฑ์และผสมผสานมากกว่าแปลงสารเคมี แสดงให้เห็นว่าการใช้ชีวภัณฑ์สามารถฟื้นคืนสมดุลธรรมชาติระบบนิเวศในสวนทุเรียนได้ดี ในด้านของโรคทุเรียน พบว่า ชีวภัณฑ์สามารถหยุดการตายของต้นทุเรียนได้ ต้นทุเรียนค่อย ๆ ฟื้นตัว

ดังนั้น ทีมวิจัยจึงได้สนับสนุนให้คุณสันติฉีดพ่นไตรโคเดอร์มาแบบปูพรมทั้งสวน เพื่อลดความรุนแรงของเชื้อราไฟทอปธอร่า และไตรโคเดอร์มา ทั้งยังสามารถส่งเสริมความแข็งแรงของพืชได้อีกด้วย เมื่อพิจารณาด้านคุณภาพและปริมาณผลผลิต พบว่า การใช้ชีวภัณฑ์หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับสารเคมี ไม่ส่งผลเสียต่อรสชาติและคุณลักษณะภายนอกของผลทุเรียน และทุเรียนยังให้ผลผลิตใกล้เคียงกับการใช้สารเคมีคือ เฉลี่ย 43-57 ผล/ต้น”

ขณะที่เจ้าของสวนทุเรียน คุณสันติ จิรเสาวภาคย์ เกษตรกรผู้ปลุกทุเรียน เผยว่า สวนทุเรียนของตน เกิดประสบปัญหาต้นทุเรียนติดเชื้อรากเน่าโคนเน่าจากราไฟทอปธอร่าและพิเทียมที่รุนแรง ทำให้มีการยืนต้นตายของทุเรียนหลายสิบต้น เสียหายอย่างมากมาย ตนจึงได้ปรึกษาทางทีมวิจัยของไบโอเทค ซึ่งมีความรู้เรื่องชีวภัณฑ์ ได้ทำการทดสอบในสวนทุเรียนของตน โดยถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องโรคและแมลง และการจัดการสวนทุเรียน ผลลัพธ์ที่เห็นได้ทำให้มีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดโรคแมลงในสวนทุเรียนมากขึ้น ปัจจุบันทางทีมวิจัยยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเก็บข้อมูลผลผลิตในอีกหนึ่งรอบการผลิต

“นอกจากทุเรียนแล้วทีมวิจัยฯ ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพในระดับแปลงในหลากพืชพันธุ์และหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย อาทิ โหระพาเพื่อการส่งออก จ.นครปฐม, กล้วยไม้เพื่อการส่งออกในกลุ่มผู้ผลิตกล้วยไม้ภาคกลาง-ตะวันตก, ถั่วฝักยาวและพริก จ.ราชบุรี, เมล่อน จ.พระนครศรีอยุธยา และมังคุด จ.จันทบุรี เป็นต้น โดยชีวภัณฑ์ที่ใช้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างไปจากสารเคมี นอกจากนั้น ทีมวิจัยได้ริเริ่มจัดทำระบบสนับสนุนการใช้ชีวภัณฑ์แบบ one stop service ที่เชื่อมต่อเกษตรกร นักวิชาการ และผู้ผลิตชีวภัณฑ์ รวมถึงเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลผู้ให้บริการตรวจสอบสภาพอากาศ เพื่อสร้างผู้ช่วยส่วนตัวของเกษตรกรในการวินิจฉัยโรคและแมลง แนะนำ SOP หรือมาตรฐานการปฏิบัติงาน ในแต่ละพืชและชีวภัณฑ์ที่เหมาะสม และเป็นที่รวบรวมผู้ผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐานมาให้บริการเกษตรกร คาดการณ์ว่าจะสามารถเริ่มเปิดใช้งานได้ในปี 2567 โดยคาดหวังว่าระบบนี้จะสนับสนุนให้เกิดการใช้ชีวภัณฑ์เป็นวงกว้างและยั่งยืนได้ต่อไป” ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน นักวิจัยไบโอเทค กล่าวปิดท้าย

สำหรับเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องที่สนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ไบโอเทค สวทช. โทร. 02 564 6700 ต่อ 3378, 3364 อีเมล ibct.biotec@gmail.com เพจ Facebook : ชีวภัณฑ์ไบโอเทค เพื่อผักผลไม้ปลอดภัย

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า