ไทย ประธานดาวเทียมโลก จับมือหน่วยงานอวกาศร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน

ไทย ประธานดาวเทียมโลก จับมือหน่วยงานอวกาศร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธาน CEOS (Committee on Earth Observation Satellites) 2023 จัดประชุมใหญ่ CEOS Plenary ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน ที่จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐทั่วโลก และองค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกว่า 40 หน่วยงาน

คณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลกหรือ CEOS เป็นเวทีความร่วมมือของหน่วยงานหลักด้านอวกาศของประเทศทั่วโลก ที่จะแลกเปลี่ยนและกำหนดนโยบายในการทำงานร่วมกันในการพัฒนาดาวเทียม การใช้และให้บริการข้อมูล และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำรงชีวิตของมนุษย์โลก การรักษาสิ่งแวดล้อม

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ในฐานะประธานฯ ได้ผลักดันประเด็นการลดการปลดปล่อยคาร์บอน เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยนำข้อมูลดาวเทียมมาใช้เป็นเครื่องมือติดตามและตรวจวัดการกักเก็บคาร์บอน เพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหานำไปสู่การบรรเทาปัญหาโลกร้อน สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งการนำเทคโนโลยีจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศเข้ามาสนับสนุน การประเมินความหนาแน่นชั้นเรือนยอดต้นไม้จากแบบจำลองเชิงพื้นที่ เพื่อประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่อไปว่า นอกจากเรื่องคาร์บอนแล้ว ประธาน CEOS ยังผลักดันให้หน่วยงานสมาชิกร่วมกันกำหนดแนวทางรองรับการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ (New Space Economy) ที่ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ในการประชุม CEOS Plenary ที่เชียงราย ผู้บริหารจากหน่วยงานสมาชิกยังได้มีการให้ความเห็นและร่วมกันกำหนดทิศทางและนโยบายการทำงานในด้านกิจการอวกาศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพมหาสมุทรและทะเล การบริหารจัดการการเกิดขึ้นของภัยธรรมชาติ การเผยแพร่องค์ความรู้อย่างเท่าเทียม การจัดทำมาตรฐาน และการแลกเปลี่ยนข้อมูล เป็นต้น

หลังจากนี้ประเทศไทยจะดำเนินการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการประยุกต์การใช้งานจากเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างยั่งยืนให้กับภาคเกษตร การจัดการด้านชลประทาน การจัดการทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนาประเทศ

การที่ GISTDA ได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานฯ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ได้ทำงานร่วมกับผู้บริหาร วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์จากองค์กรอวกาศชั้นนำทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในด้านเทคโนโลยีอวกาศมากยิ่งขึ้น ได้ร่วมกำหนดทิศทางและนโยบายสำคัญร่วมกับองค์กรผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศของโลก จึงเป็นการยกระดับและมาตรฐานการดำเนินงานของ GISTDA นำประโยชน์และองค์ความรู้ที่ได้รับจากการทำงานมาปรับและยกระดับภารกิจของประเทศให้ก้าวหน้าและเทียบเท่ากับระดับสากล ทั้งนี้ สิ้นปี 2023 GISTDA จะหมดวาระในการดำรงตำแหน่งประธาน CEOS จึงมีการส่งมอบตำแหน่งนี้ให้กับ Canadian Space Agency (CSA) ประเทศแคนาดา ที่จะดำรงตำแหน่งประธาน CEOS 2024 ต่อไป

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า