เอ็นไอเอเดินหน้ารังสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม พร้อมเปิดตัว 2 นวัตกรรม “อาร์ต & คัลเจอร์” คืนสีสันศิลปะนิยามใหม่ให้กรุงเทพฯ

เอ็นไอเอเดินหน้ารังสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม พร้อมเปิดตัว 2 นวัตกรรม “อาร์ต & คัลเจอร์” คืนสีสันศิลปะนิยามใหม่ให้กรุงเทพฯ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เดินหน้าสานต่อโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน เพื่อแก้ปัญหาจากการขยายตัวของสังคมเมือง พร้อมเปิดตัวอย่าง 2 โซลูชันเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา “นวัตกรรมบำบัดอารมณ์และสุขภาพจิตด้วยดิจิทัลอาร์ต และแอปพลิเคชันส่งเสริมการท่องเที่ยววัดโพธิ์ด้วยระบบ AR” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565

พร้อมกับการเดินหน้าเฟ้นหาพันธมิตรจากท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย หรือภาคประชาสังคม เพื่อร่วมสร้างโซลูชันสำหรับชุมชนและเมืองทั่วประเทศในปี 2566 ผ่าน 3 โจทย์หลัก ได้แก่ นวัตกรรมในกลุ่มซอฟต์พาวเวอร์ นวัตกรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตทุกช่วงวัย ซึ่งจะสนับสนุนผ่านทั้งรูปแบบเงินทุน เครือข่าย และแผนธุรกิจ เพื่อสร้างความสมดุลและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ก้าวสู่ทิศทางที่ดียิ่งขึ้น

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของ NIA คือการนำนวัตกรรมเพื่อสังคมมาช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้คลี่คลายจากภาวะวิกฤติ หรือปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่สังคมเมืองและชุมชนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แต่ละพื้นที่ประสบกับปัญหาที่แตกต่างกันออกไป

แต่อย่างไรก็ตามการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคม หลายคนอาจเข้าใจว่า คือสิ่งที่ต้องเข้าไปแก้ปัญหาความยากจน หรือสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วมิติปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากการขยายตัวและการพัฒนาของเมือง ยังมีอีกมากมายหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้คน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ การเตรียมความพร้อมในการเปิดเมืองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความยั่งยืน

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับปัญหาได้ตรงจุดของเมือง NIA จึงริเริ่ม “โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน” (City & Community Innovation Challenge) ต่อเนื่องมามากกว่า 5 ปี เพื่อสนับสนุนการสร้างและใช้นวัตกรรมเพื่อสังคมสำหรับเมือง

โดยในปี 2565 ให้การสนับสนุนไปแล้ว 14 โครงการ ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ นวัตกรรมด้านศิลปะ วัฒนธรรมและมานุษยวิทยา นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีความสุข และนวัตกรรมบริการด้านสุขภาพและสวัสดิการเพื่อสังคม คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนกว่า 13 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุน 32 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ในช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยนับเป็นการกระตุ้นให้เมืองและสังคมหันมาสนใจขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างมีนัยสำคัญ

“เมืองหลวงของประเทศไทยอย่างกรุงเทพมหานคร เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการผลักดันนวัตกรรมไปใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการสรรค์สร้างพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ การส่งเสริมงานศิลปะ การท่องเที่ยว การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนเปลี่ยนของโครงสร้างและพฤติกรรมของประชากร

ซึ่งวันนี้จะพาไปรู้จักกับ 2 นวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ช่วยตอบโจทย์ด้านสุขภาพและการท่องเที่ยวสำหรับคนเมือง ได้แก่ โครงการ “อารามอารมณ์” นวัตกรรมการแก้ปัญหาเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของคนเมือง โดยมีการปรับกระบวนการดูแลสุขภาวะทางจิตผสมผสานกับงานศิลป์และดิจิทัลอาร์ตเข้าด้วยกัน ผ่านการออกแบบและดีไซน์แต่ละส่วนด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านศิลปะ ด้านดิจิทัล รวมถึงด้านเสียงที่ควบคุมแต่ละจุดในงาน ในการออกแบบสื่อแสงสีเสียงที่ผสมเรื่องราวเพื่อเข้าถึงผู้คนได้มากที่สุด นอกจากนี้ โครงการยังมีการดึงผู้เชี่ยวชาญจากด้านสุขภาวะทางจิตเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดร่วมซึ่งจะช่วยให้เยาวชนรวมไปถึงผู้เข้าชมทุกวัยสามารถเข้าถึงการสื่อสารด้วยศิลปะร่วมกับการบำบัดได้ง่ายยิ่งขึ้น”

และโครงการ “Insight Wat Pho” เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานบนมือถือ ซึ่งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ด้วยระบบ AR โดยจะแสดงข้อมูลองค์ความรู้ และประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวัดโพธิ์เชื่อมโยงกับสถานที่จริงออกมาในรูปแบบแอนนิเมชันและกราฟิกที่มีเนื้อหาที่น่าสนใจไม่น่าเบื่อ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
ดร.วิลาสินี สุขสว่าง
นาย นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล

โดยองค์ความรู้และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่นำมาแสดงในแอปพลิเคชันล้วนถูกคัดกรองมาจากงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม จึงมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลาเรียนรู้ภายในวัดได้นานมากขึ้น และถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งดึงดูดของวัดเพื่อเตรียมตัวเปิดรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้นนอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่เกิดขึ้นบริเวณรอบท่าน้ำต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เช่น  โครงการเสน่ห์บางลำภู บริเวณท่าพระอาทิตย์ จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมการท่องเที่ยวริมแม่น้ำด้วยนวัตกรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นเส้นทางใหม่สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวในการเปิดเมืองรอบนี้แล้ว ยังสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและชุมชนควบคู่ไปด้วยกัน

ในปี 2566 NIA ยังคงส่งเสริมนวัตกรรมที่สามารถผลักดันไปสู่การใช้งานจริง ตามแนวคิดการร่วมแรงร่วมใจระหว่างหน่วยงานด้านการปกครอง องค์กรเอกชน องค์กรภาคสังคม และภาคประชาชน โดยเปิดรับข้อเสนอโครงการนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและชุมชนได้ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ นวัตกรรมในกลุ่มซอฟต์พาวเวอร์ เช่น การเพิ่มมูลค่าให้กับศิลปวัฒนธรรม เทคโนโลยีด้านสื่อและการสื่อสาร นวัตกรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาสินค้า บริการ หรือการจัดการ วัสดุหมุนเวียน และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตทุกช่วงวัย ตั้งแต่เจเนอเรชันอัลฟาจนถึงเจเนอเรชันเบบี้บลูมเมอร์ เพื่อรับเงินสนับสนุนสำหรับดำเนินการจริงในพื้นที่ในวงเงินไม่เกินโครงการละ 1.5 ล้านบาท ซึ่งเมื่อดำเนินโครงการนำร่องแล้วเสร็จ สามารถขยายผลแนวคิด เทคโนโลยี โอกาสทางสังคม และธุรกิจ ไปยังพื้นที่อื่นต่อไป

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า