เผยสุดยอดนักสื่อสารดาราศาสตร์น้อย ประจำปี 2567
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดแข่งขัน “นักสื่อสารดาราศาสตร์น้อย” ประจำปี 2567 (Little Star Contest 2024) รอบชิงชนะเลิศ ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ได้สุดยอดนักเล่าเรื่องดวงดาวรุ่นจิ๋วรุ่นสอง หวังสร้างแรงบันดาลใจเยาวชน เป็นสื่อกลางถ่ายทอดเรื่องราวความรู้ให้บุคคลใกล้ตัวหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้น
คุณจุลลดา ขาวสะอาด รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ประธานตัดสินการแข่งขัน กล่าวว่า NARIT เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ที่ไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนาทักษะส่วนบุคคลเท่านั้น แต่หากเยาวชนมีความรู้และความเข้าใจดาราศาสตร์ และสามารถสื่อสารให้กับบุคคลทั่วไปได้อย่างถูกต้องและเข้าใจได้ง่าย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยเป็นอย่างมาก เพราะเยาวชนมีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดวิทยาศาสตร์ให้กับบุคคลใกล้ตัว ให้สามารถเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ นำไปสู่การพัฒนาความฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) ในสังคมไทยต่อไป
สำหรับผู้เข้าประกวดทั้ง 10 คนในวันนี้ เป็น 10 อันดับแรกจากผู้สมัครทั้งหมด 137 คน ขอชื่นชมในความสามารถ ความตั้งใจ และความเพียรพยายามของทุกคน ในการเตรียมพร้อมกว่าที่จะมาเป็นการนำเสนอที่สมบูรณ์แบบในวันนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประกวดนักสื่อสารดาราศาสตร์น้อย จะมีส่วนช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนให้หันมาสนใจใฝ่รู้ในดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้น เสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ตลอดจนส่งเสริมให้วงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ของประเทศไทย ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
การแข่งขันนักสื่อสารดาราศาสตร์น้อย (Little Star Contest 2024) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ระดับประถมศึกษาตอนต้น และระดับประถมศึกษาตอนปลาย เปิดรับผลงานในช่องทางออนไลน์จากเยาวชนทั่วประเทศ ปีนี้มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วม 137 คน คัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ประเภทละ 5 คน รวมทั้งหมด 10 คน เข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เพื่อนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการสื่อสารดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ณ เวทีกลาง งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ. นนทบุรี ผลการตัดสินเป็นดังนี้
ระดับประถมศึกษาตอนต้น
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ด.ช.จิรกร ฉายพิมาย โรงเรียนมารีย์วิทยา นครราชสีมา เรื่อง ปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ด.ญ.จิณณ์จิรัชญา เอี่ยมผึ้งโรงเรียนไผทอุดมศึกษา เรื่อง Our Solar System
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ด.ญ.กชลักษิกา สายตาโรงเรียนเทศบาล 4 สันป่าก่อ เรื่อง Color of Stars
และรางวัลชมเชยจำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ด.ญ.อโยธารา มาลาพัด โรงเรียนเทศบาล 4 สันป่าก่อ เรื่อง ความรักก็เหมือนดาวคู่ และ ด.ช. บวรวงศ์ เกียรติปัญญาโอภาสโรงเรียนประเทืองทิพย์วิทยา เรื่อง Solar Storm
ระดับประถมศึกษาตอนปลาย
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ด.ช.นพปภัทร ศุภสัณฐิติกุล โรงเรียนเทศบาลบ้านคูหาสวรรค์ เรื่อง The realm of the endless void
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ด.ญ.จรัสรัตน์ ทรัพย์จรัสแสง จากโฮมสคูล เรื่อง A Thrilling Success of Mission to the Moon
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ด.ช.พีรวิชญ์ รัตนพันธ์ โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย เรื่อง Black holes and Neutron Stars
และรางวัลชมเชยจำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ด.ญ.กัญญพัชร เทพประสูตร โรงเรียนดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษา เรื่อง The Scientific Beauty of Solar Eclipse และ ด.ช.กวิน บัวชุม โรงเรียนชลประทานวิทยาเรื่อง ความลับของดวงจันทร์ (Secrets of the Moon)