“สอวช.” โชว์ความสำเร็จ “แพลตฟอร์ม STEMPlus” มีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร “พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง” ทะลุ 50,000 ราย

“สอวช.” โชว์ความสำเร็จ “แพลตฟอร์ม STEMPlus” มีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร “พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง” ทะลุ 50,000 ราย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกรมสรรพากร จัดงาน “STEMPlus พัฒนาคน เสริมทัพอุตสาหกรรมไทย” ณ มิตรทาวน์ ฮอลล์ 1 ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566

ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “การพัฒนากำลังคนเพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันด้วยวิทยาการขั้นสูง” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และ สอวช. ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการจัดทำหลักสูตรการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) หรือหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ เพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง ดึงการลงทุนเข้ามาจากต่างประเทศ กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดเรามีหลักสูตรที่ผ่านการอนุมัติแล้ว 11 หลักสูตร เพื่อให้สามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้อย่างเร่งด่วน

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป ทุกประเทศต้องปรับตัว ประเทศไทยเองก็เช่นกัน มีการปรับตัวในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคการศึกษา ซึ่งเป็นต้นทางของสร้างคนตอบโจทย์ตลาดแรงงานและความต้องการของประเทศรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรม EV อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เทคโนโลยีชีวภาพการแพทย์ เกษตรอัจฉริยะ อาหารมูลค่าสูง เทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องมีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้นักศึกษาหรือคนทำงานมีโอกาสและความเท่าเทียมกันในการพัฒนาศักยภาพทางอาชีพอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี จากการส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรม

สอวช. ได้จัดทำแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ส่งเสริมการปรับทักษะ ยกระดับทักษะ (Reskill Upskill) และจับคู่กำลังคนสู่การทำงานและประกอบอาชีพ คือ STEMPlus (www.stemplus.or.th) ที่มีบริการให้ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการและจ้างงานในตำแหน่งที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้ทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ (สะเต็ม) ที่ได้จ้างพนักงานใหม่ สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนพนักงานไปขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากรได้ 150% นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองตามมาตรการ Thailand Plus Package ยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการนำค่าใช้จ่ายในการอบรมไปหักภาษีได้ 250%

“แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงดังกล่าวนั้น สอวช. ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทบริการตอบโจทย์ตรงใจ ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) โดย สอวช.จะเข้ารับรางวัลในวันที่ 7 กันยายน นับเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราอย่างยิ่ง”

คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนในประเทศไทยในอีก 4 – 5 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมแนวใหม่มากขึ้น และจะมีคลื่นการลงทุนลูกใหญ่เข้ามาในประเทศไทยเนื่องจากในภูมิภาคอาเซียนประเทศไทยมีความโดดเด่นที่สุด ส่งผลให้การลงทุนเติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวเลขครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นถึง 70% มูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 360,000 ล้านบาท นอกจากนี้ทิศทางการลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์ มีโครงการที่ย้ายฐานเข้ามาในประเทศไทย 100 กว่าโครงการ มีเงินลงทุน 16,000 ล้านบาท มากกว่าในช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนถึง 7 เท่า

คุณเสาวคนธ์ มีแสง ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร กล่าวว่า การพัฒนาประเทศโจทย์ที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องคน กรมสรรพากร ได้ออกมาตรการทางภาษีเพื่อเป็นทางลัดไปสู่เป้าหมายพัฒนากำลังคนตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่างเร่งด่วน รวมถึงออกมาตรการ LTR Visa ดึงดูดกำลังคนสมรรถนะสูงจากต่างประเทศเข้ามาในไทย โดยอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่าและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 17%

ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเพิ่มเติมว่า บริการใน STEMPlus ตอบโจทย์ 3 กลุ่ม สำคัญ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบการ สามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างงานบุคลากร STEM ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ผ่านการรับรองไปขอลดหย่อนภาษีได้ 150% ซึ่งปัจจุบันมีการขอรับรองการจ้างงานแล้ว 4,446 ตำแหน่งงาน จาก 105 บริษัท อีกทั้งส่งบุคลากรเข้ารับฝึกอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจาก อว. สามารถขอลดหย่อนภาษีได้ 250% ซึ่ง STEMPlus ได้รวบรวมรายชื่อหลักสูตร จำนวน 691 หลักสูตร จาก 70 หน่วยฝึกอบรม ซึ่งมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมแล้ว 55,130 คน โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาคนให้ได้ 100,000 คน ภายในปี 2567 กลุ่มที่ 2 นักศึกษาและบุคคลทั่วไป จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มโอกาสการได้ทำงานที่ต้องการและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น โดยปัจจุบันมีนวัตกรรมการศึกษาในรูปแบบ Higher Education Sandbox เกิดขึ้นจำนวน 11 โครงการ ซึ่งจะสามารถผลิตกำลังคนที่สอดคล้องตามความต้องการได้อย่างน้อย 20,000 คนภายในปี 2575 และกลุ่มที่ 3 หน่วยฝึกอบรม ได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่ตอบโจทย์ตามความต้องการในหลากหลายสถานการณ์

“ปัจจุบัน กลไกการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน STEM ล่าสุดได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 777 และ ฉบับที่ 778) พ.ศ. 2566 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการจ้างงานบุคลากรด้าน STEM และการพัฒนาบุคลากรในองค์กร ต่อไปอีก 3 ปี คือ พ.ศ. 2566 – 2568 คาดว่า แพลตฟอร์ม STEMPlus จะเป็นกลไกพัฒนากำลังคนรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะต่อไป โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น (non-degree) ให้ครอบคลุมในทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการ และบริการที่ตอบสนองนักลงทุนในทุกมิติ ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปอีกขั้นด้วยวิทยาการขั้นสูง”

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการจากหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกว่า 20 หน่วยงาน เพื่อสร้างการรับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ และกลไกสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมไทยจากภาครัฐ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการยกระดับความสามารถของภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ ให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันอุดมศึกษาแบบยั่งยืน และยังให้บริการ STEMPlus คลินิก ให้คำปรึกษาด้านการพัฒนากำลังคน และแนะแนวทางเข้าถึงสิทธิประโยชน์ อาทิ มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูงและการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง (Thailand Plus Package) ชี้เป้าให้เห็นถึงหลักสูตรที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคต ตลอดจนสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการ นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่จะได้รับอีกด้วย

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า