สอวช. ร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ในไทย เข้าสู่ปีที่ 3 ชี้โอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจและแนวทางสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคีเครือข่าย

สอวช. ร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ในไทย เข้าสู่ปีที่ 3 ชี้โอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจและแนวทางสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคีเครือข่าย

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ 21 หน่วยงาน ภายใต้ภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์แห่งประเทศไทย (Thailand Synthetic Biology Consortium) จัดงานประชุม SYNBIO Consortium ประจำปี 2566 หัวข้อ Advancing the ‘Game Changer’ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566

คุณสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจนวัตกรรม สอวช. ได้เข้าร่วมการเสวนาในประเด็นเกี่ยวกับมาตรการและแรงจูงใจจากภาครัฐ ในการสนับสนุนกิจกรรมและการดำเนินการของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาสังเคราะห์หรือ Synthetic Biology (SynBio) โดยงานเสวนาครั้งนี้ มุ่งหวังให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ของหลายภาคส่วน เช่น ภาคเอกชนทั้งบริษัทขนาดใหญ่และสตาร์ตอัป ที่มีแนวโน้มลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์เพิ่มขึ้น ภาครัฐที่มีบทบาทกำหนดนโยบายส่งเสริมการวิจัยพัฒนา ที่ครอบคลุมถึงโรงงานต้นแบบและการติดตามหรือกำกับดูแลผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาด การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนากำลังคน และการให้สิทธิประโยชน์ดึงดูดภาคเอกชนลงทุนวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยีในภาคการผลิต รวมถึงจัดให้มีกิจกรรมพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่าง สตาร์ตอัป ผู้สนับสนุน นักลงทุน ตลอดจนจัดบูทแสดงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี SynBio

คุณสิรินยา กล่าวถึงโอกาสของชีววิทยาสงเคราะห์ในไทย ในส่วนของเทคโนโลยีการหมักแบบพรีซิชัน เฟอร์เมนเทชัน (Precision fermentation technology) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และยังเป็นเทคโนโลยีฐานที่ส่งผลกระทบกับหลายสาขาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ยกตัวอย่างในภาคเกษตร เช่น ปุ๋ย (Fertilizers) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ในปริมาณมาก ประเทศไทยมีการนำเข้าอยู่ที่มูลค่า 100,000 ล้านบาทต่อปี หากสามารถปรับเปลี่ยนเป็นปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizers) เข้าไปทดแทนในส่วนนี้ได้ ก็จะเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งเรื่องของระบบเกษตรกรรมฟื้นฟู (Regenerative farming) หรือการทำปุ๋ยชีวภาพ ยังเป็นเทรนด์อนาคตที่สตาร์ตอัปในต่างประเทศให้ความสนใจในเรื่องนี้ด้วย

ในฝั่งของอาหาร อุตสาหกรรมที่น่าสนใจคือ กลุ่ม Functional Ingredients หรือสารประกอบเชิงหน้าที่ ที่มีโอกาสการเติบโตในตลาดอาหารอนาคต อาทิ โปรตีนทางเลือก (Alternative protein) และอาหารเชิงฟังก์ชัน (Functional food) ในด้านการแพทย์ แนวโน้มการพัฒนาเซลล์บำบัด (Cell therapy products) ในกลุ่ม CAR-T cell เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงกำลังเติบโต ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำได้ เรามีบริษัทของคนไทย และเชื่อมั่นว่านักวิทยาศาสตร์ของเราจะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้นมาได้เอง

อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ มีทั้งแนวทางการเปลี่ยนผ่านไปใช้วัสดุชีวภาพ (Biomaterials) เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) หรือเทคโนโลยีสีเขียวอื่น ๆ อย่างไฮโดรเจน (Hydrogen) หรือกลุ่มเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ก็เป็นส่วนที่มีความต้องการสูง และภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญและพูดคุยกันค่อนข้างมากในเรื่องมาตรฐานและการทำให้เอทานอลของไทยให้ได้รับการยอมรับ โดยในภาพรวมจะเห็นได้ว่า การพัฒนาชีววิทยาสังเคราะห์ ถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเชิงเทคโนโลยี

สำหรับการสนับสนุนภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ ในส่วนของ สอวช. จะสามารถเข้าไปช่วยขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึง สอวช. ยังมีหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาลว่าควรลงทุนอะไร ลงทุนที่ไหน ลงทุนเท่าไหร่ และลงทุนไปที่ใคร ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องใช้คือ ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนที่มาจากภาคีเครือข่าย เพื่อนำไปพัฒนาเป็นข้อเสนอที่จะช่วยขจัดอุปสรรคในการดำเนินการต่าง ๆ ให้กับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องต่อไป

การประชุม SynBio Consortium ในปีนี้ เป็นความร่วมมือในการทำงานก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 คาดว่าจะช่วยขยายเครือข่ายทั้งในกลุ่มมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ภาคเอกชน และภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ สร้างให้เกิดกิจกรรมที่มีส่วนร่วมระหว่างองค์กรในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และสร้างความความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ของประเทศ เพื่อยกระดับงานวิจัยและดึงดูดการลงทุนด้าน SynBio ในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่เวทีระดับนานาชาติได้อย่างยั่งยืน

 

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า