สอวช. ร่วมกับ สำนักเคเอกซ์ มจธ. เปิดตัวแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้านสะเต็ม
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสำนักเคเอกซ์ (Knowledge Exchange: KX) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดงานเปิดตัว STEM One-Stop Service (STEM OSS) แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ณ อาคารเคเอกซ์ ชั้น 17 ลาน X-CITE SPACE และการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ ในวันที่ 12 ตุลาคม 2565โดยมี ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน
ดร.พูลศักดิ์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ สอวช. ได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน จัดทำแพลตฟอร์ม STEM OSS ขึ้นมา สืบเนื่องจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามทางการค้า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในห่วงโซ่อุปทานหรือห่วงโซ่คุณค่าด้านการผลิต ประเทศไทยจึงต้องมีการปรับตัวและพัฒนาในแง่ของการขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในมิติเรื่องกำลังคน จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น ส่งผลกระทบด้านการลงทุนในประเทศ ที่นักลงทุนต้องมีการตัดสินใจว่าจะเข้ามาลงทุนในไทยหรือย้ายฐานการผลิตไปในประเทศอื่น
คำถามสำคัญที่ตามมาคือ เรื่องของกำลังคนที่จะต้องพร้อมรองรับและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มนักลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ได้มีกลไกในการช่วยสนับสนุนหรือช่วยจับคู่ สร้างหรือผลิต พัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการและร่วมมือกับนักลงทุน หรือในกลุ่มนักลงทุนเดิมในประเทศ ที่ต้องการขยายกำลังการผลิตหรือขยายกิจการ ต้องการเลือกเฟ้นหาบุคลากรมากขึ้น แต่ยังไม่มีแนวทางที่จะเข้าถึงกำลังคนเหล่านี้ จึงเป็นที่มาที่เราต้องสร้างกลไกที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ และยังช่วยตอบโจทย์บัณฑิต เยาวชนคนรุ่นใหม่ของเรา ให้ได้มีอาชีพ มีงานที่ดี ตรงกับความต้องการ
สำหรับแพลตฟอร์ม STEM OSS เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และ สอวช. เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการผลิตและพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการพัฒนากลไกเพื่อเชื่อมโยงความสามารถในการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง จากสถาบันอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน และการร่วมกับภาคเอกชนในการวางแผนการพัฒนากำลังคนทักษะสูงในสาขาเฉพาะเจาะจงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น
“มาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ในช่วงที่ผ่านมีมาตรการส่งเสริมจากกรมสรรพากร ทั้งในแง่การดึงดูดให้มีการจ้างงานกำลังคนด้านสะเต็ม รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในเชิงการฝึกอบรมผ่านหลักสูตรด้านสะเต็ม ซึ่ง STEM OSS ก็จะเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกในการคัดสรรหลักสูตรที่ผ่านมาตรฐานให้ได้รับการรับรอง และเปิดให้สถานประกอบการส่งบุคลากรเข้าไปฝึกอบรม และนำค่าใช้จ่ายในการจ้างงานและการฝึกอบรม ไปขอยกเว้นภาษีเงินได้กับทางกรมสรรพากรได้ โดยปัจจุบันมีหลักสูตรที่ผ่านการรับรองแล้วกว่า 472 หลักสูตร มีบุคลากรได้รับการพัฒนาไปแล้วกว่า 15,388 คน มีการจ้างงานกำลังคนด้านสะเต็มและผ่านการรับรองจาก สอวช. แล้ว 894 ตำแหน่ง และเชื่อว่าในอนาคตจะมีการจ้างงานกำลังคนด้านสะเต็มเพิ่มมากขึ้น”
ในการก้าวเข้าสู่เฟสที่ 2 ของแพลตฟอร์ม STEM OSS ต้องมองถึงการพัฒนามาตรการส่งเสริมการสร้างประสิทธิภาพ สร้างกระบวนการในการผลิตและพัฒนากำลังคนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสำนักเคเอกซ์ก็ได้นำเครื่องมือ Progress Report on Generic Skills (PROG) ที่ใช้ในการวัดและประเมิน Soft Skill จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาใช้ เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการตัดสินใจคัดเลือกพนักงานก่อนเข้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการประเมินใน 3 ทักษะหลักคือ ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะส่วนบุคคล และทักษะในการแก้ปัญหา
ซึ่ง PROG จะเข้ามาช่วยในการสรรหาบุคลากรเข้าทำงาน โดยเฉพาะทักษะด้านคนหรือด้านสังคม ช่วยในการพัฒนาบุคลากร อีกทั้งยังช่วยในการจัดทำแผนพัฒนารายบุคคลได้ โดยตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนาการใช้แพลตฟอร์มในเฟส 2 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีการนำเครื่องมือ PROG มาช่วยจับคู่สถานประกอบการกับผู้สมัครงานไปแล้วรวม 19 ตำแหน่ง เป็นตำแหน่งทางด้านวิทยาศาสตร์ 1 ตำแหน่ง ด้านเทคโนโลยี 5 ตำแหน่ง ด้านวิศวกรรมศาสตร์ 12 ตำแหน่ง และด้านคณิตศาสตร์ 1 ตำแหน่ง เมื่อมองในภาพรวมการพัฒนาแพลตฟอร์ม STEM OSS ขึ้นมาจึงถือเป็นพลังสำคัญให้กับผู้ประกอบการ ในการทำความร่วมมือกับภาคการศึกษาในการพัฒนากำลังคน และช่วยตอบโจทย์ประเทศเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่พ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้
คุณวรรณภพ กล่อมเกลี้ยง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักเคเอกซ์ และหัวหน้าศูนย์ประสานงานและบริการเบ็ดเสร็จ STEM OSS ยังได้แนะนำให้เห็นภาพรวมบริการของแพลตฟอร์ม ที่ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มนักศึกษาหรือบุคคลทั่วไป โดยในกลุ่มผู้ประกอบการ สามารถแจ้งความประสงค์ความต้องการกำลังคน ค้นหาหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจาก อว. และขอรับรองการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านสะเต็มได้
ส่วนของกลุ่มนักศึกษาหรือบุคคลทั่วไป สามารถฝากประวัตสำหรับการสมัครงานหรือเข้าร่วมโครงการ ค้นหาหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจาก อว. และประเมินสมรรถนะทางอาชีพสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ โดย STEM OSS จะช่วยประสานงานจับคู่การจ้างงานบุคลากรสมรรถนะสูงให้แก่สถานประกอบการ ประสานงานการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรภายในองค์กร สร้างความร่วมมือในการผลิตบุคลากร ระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ประสานงานให้เกิดการจัดตั้งศูนย์ Industrial Training Center (ITC) และประสานงานด้านข้อมูลสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการสร้างความร่วมมือผ่านแพลตฟอร์ม
คุณซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กล่าวถึงมาตรการส่งเสริมของ BOI โดยเฉพาะในกลุ่มประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน หมวดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ทั้งสิทธิประโยชน์พื้นฐานและสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม STEM OSS เช่น มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับกลุ่มกิจการที่มีการวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรมหรือฝึกการทำงานนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) ที่จะช่วยเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องหรือมีเงื่อนไขตรงตามที่กำหนด ให้สามารถขอยกเว้นภาษีเงินได้ได้เช่นเดียวกัน เช่น กิจการสถานฝึกฝนวิชาชีพ สถานศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง หรือศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม การจัดโครงการสนับสนุนสถาบันการศึกษา เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าใช้งานแฟลตฟอร์ม STEM OSS สามารถเข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์ https://stemplus.or.th/