สอวช. มุ่งเป้าผลิตกำลังคนระดับสูง ตอบโจทย์ความต้องการในโลกอนาคต

สอวช. มุ่งเป้าผลิตกำลังคนระดับสูง ตอบโจทย์ความต้องการในโลกอนาคต

ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาในการผลิตกำลังคนระดับสูง และงานวิจัยและนวัตกรรมผลกระทบสูง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในยุคแห่งการพลิกผัน” ในงานมหกรรมงานวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประจำปี 2565 (CMU High Impact Research & Innovation Expo 2022) เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์

ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป และการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออาชีพ การศึกษา และการจ้างงาน โดยมีการคาดการณ์ว่า ใน พ.ศ. 2568 งาน 85 ล้านตำแหน่ง จะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร แต่จะมีงานที่เกิดขึ้นใหม่ 97 ล้านตำแหน่ง ที่ต้องการกำลังคน และส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล ระบบอัตโนมัติ และงานในด้านสะเต็ม (Science, Technology, Engineering and Mathematics: STEM) เช่น วิศวกรหุ่นยนต์, ไอโอที, ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล ฯลฯ และด้านสังคม เช่น ผู้ให้คำปรึกษาด้านอาชีพ, ผู้สนับสนุนด้านสังคมและอารมณ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้อายุ จากข้อมูลพบว่า ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตมากกว่าคนเกิดใหม่ ถึง 20,000 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ คนจะมีอายุยืนยาวขึ้น วิถีชีวิตก็จะเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เรียนและทำงานจนเกษียณอายุ อาจต้องเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบโจทย์การทำงานและชีวิตส่วนตัว ในทุกช่วงวัย หลักสูตรการศึกษาในอนาคต จึงควรมีทั้งแบบ degree และ non-degree เมื่อเรียนจบแล้ว ออกไปทำงาน และสามารถกลับมา reskill หรือ upskill แล้วไปเป็นผู้ประกอบการ หรือทำงานได้มากกว่า 1 อาชีพ

ดร. กิติพงค์ ยังได้เผยผลการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของ สอวช. พบว่า ทักษะอาชีพในอนาคตที่ขาดแคลน และมีความต้องการสูงในภาคอุตสาหกรรม อาทิ Digital marketing, Aerospace engineer, Food stylist, Automation engineer, Robotics control engineer, Biologist ฯลฯ ดังนั้นระบบการศึกษาจึงต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ทักษะอาชีพที่เปลี่ยนไปด้วย การพัฒนาจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปจากฝั่ง Supply side ไปสู่การร่วมออกแบบโมเดลการศึกษา พัฒนาคน ทั้งเชิงการทำงานและร่วมลงทุน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคที่ต้องใช้บุคลากร

ระบบการเงินของมหาวิทยาลัยในอนาคต จากที่เป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนตามจำนวนเด็กในมหาวิทยาลัย จะเปลี่ยนไปสู่การดูผลลัพธ์ว่า ในอนาคตมหาวิทยาลัยจะผลิตคนเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจได้อย่างไร โดยมียกตัวอย่าง “ปริญญาบราวนี่” ซึ่งเป็นโมเดลแก้จนของประเทศจีน ด้วยการให้โอกาสทางการศึกษา ให้นักศึกษาได้เรียนเฉพาะวิชาที่สนใจและจำเป็นต่อการประกอบอาชีพในปัจจุบัน สามารถเรียนได้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวควบคุม และประเมินผล เป้าหมายคือ ต้องการเปลี่ยนคนที่ไม่ได้รับการศึกษาให้ได้รับวุฒิปริญญา ทำมาค้าขายได้ดีขึ้น พ้นจากความยากจนเร็วขึ้น โดยการสอนทักษะความรู้และการใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้อง โดยวัดผลลัพธ์ และให้วุฒิการศึกษาตามผลลัพธ์นั้น

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ สอวช. ยังได้ผลักดันให้เกิดแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคผู้ใช้บุคลากร รวมถึงมีแนวทางการจัดทำหลักสูตรกลางที่สามารถเรียนที่มหาวิทยาลัยไหนก็ได้ มีโครงการผลิตเจ้าของธุรกิจสตาร์ตอัป ที่มีความรู้และทักษะตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจสมัยใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยแต่ใช้สตาร์ตอัปจริงมาสอน ในด้านกำลังคน พบว่า บุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์ที่มีความต้องการ 34,000 คน แต่ผลิตได้เพียง 17,000 คนเท่านั้น การทำงานจึงต้องผนึกกำลังร่วมกันในหลายมหาวิทยาลัย เพื่อผลิตบุคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการ

ทิศทางของประเทศไทยในอีก 5-6 ปี ข้างหน้า จะต้องให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 อย่างควบคู่กันคือ 1.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2. เศรษฐกิจฐานราก และ 3.เศรษฐกิจนวัตกรรม เพื่อนำประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ ซึ่งถ้าจะเพิ่มจีดีพีประเทศให้เร็วแบบก้าวกระโดด ต้องใช้การผลิตด้วยฐานนวัตกรรม อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero) ที่จะเข้ามามีผลกับแนวทางการค้าและการลงทุน ส่วนทางด้านสังคม ต้องเข้าไปดูแลเศรษฐกิจฐานราก ให้ประชาชนพ้นจากความยากจนด้วยการขยับฐานะทางสังคม สร้างโอกาสและความสามารถในการสร้างรายได้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ในส่วนของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ประเทศไทยทำได้และมีจุดแข็งมากมาย ทั้งเรื่อง 5F ได้แก่ Food, Film, Fashion, Fighting, Festival ที่สามารถต่อยอดสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล โดยต้องใช้งานวิจัยเข้าไปสนับสนุนต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ ส่วนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม สอวช. ได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนธุรกิจฐานนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศที่มียอดขาย 1,000 ล้านบาท ให้เพิ่มขึ้นจำนวน 1,000 ราย

ทั้งนี้ ยังมีรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กำลังมาแรง คือ Gig Economy ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงทีและตรงจุด โดยอาศัยดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงให้งานในปัจจุบันปรับสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น แนวทางการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจทางเลือกดังกล่าวคือ อำนวยความสะดวกให้ Gig Workers จากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยมีสิทธิ์ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้รับสวัสดิการ และมีโอกาสสร้างมาตรฐานในอาชีพ

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า