สวทช. นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ‘บริหารจัดการอาหารส่วนเกิน’ สร้างมาตรฐานการส่งต่ออาหาร หนุน Thailand’s Food Bank

สวทช. นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ‘บริหารจัดการอาหารส่วนเกิน’ สร้างมาตรฐานการส่งต่ออาหาร หนุน Thailand’s Food Bank

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมนักวิจัยพบสื่อมวลชน NSTDA Meets the Press เรื่อง สวทช. นำ วทน. ช่วยบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) เนื่องจากประเทศไทยมีอาหารส่วนเกินมากถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่มีการรายงานตัวเลขของประชากรของประเทศที่มีรายได้น้อยและมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารประมาณ 3.8 ล้านคน เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ณ อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 (INC 2) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ดร.ปัทมาพร ประชุมรัตน์ นักวิจัยนโยบาย สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการ การจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย กล่าวว่า สวทช. ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG สาขาอาหาร ได้ร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ดำเนินการศึกษาและวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อสร้างต้นแบบการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน (Food surplus) ของประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.

โดย สวทช. ได้นำองค์ความรู้ของทีมวิจัยและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) เพื่อสร้างแบบจำลองการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้สังคมไทย ผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารส่วนเกิน การกอบกู้อาหาร และการส่งต่ออาหารส่วนเกิน เพื่อช่วยลดการเกิดขยะอาหาร และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ มาร่วมกันดำเนินงานบนฐานความเชี่ยวชาญภายใต้สาขาของเทคโนโลยีที่หลากหลาย ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีดิจิทัลและการคำนวณขั้นสูง และเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทีมวิจัยเริ่มต้นจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการดำเนินงาน ที่มุ่งเน้นการใช้องค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีอาหารและอาหารปลอดภัย เนื่องจากในกระบวนการส่งต่ออาหารส่วนเกิน ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของอาหารเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึง สวทช. โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) มีทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร (IFBT) ที่มีความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ด้านอาหารปลอดภัย (Food safety) สามารถประยุกต์ใช้ความเชี่ยวชาญในการทดสอบความปลอดภัยของอาหารส่วนเกินที่มีข้อกังวลหรือคาดว่าจะมีความเสี่ยง ด้วยกระบวนการวิเคราะห์ทดสอบในห้องปฏิบัติการ

ดร.นิภา โชคสัจจะวาที นักวิจัยอาวุโสและคณะผู้วิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) กล่าวเสริมว่า การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยเสริมการจัดการ มีความสำคัญอย่างยิ่ง จะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานของอาหาร โดยทีมวิจัยได้จัดทำแนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค (Food Safety Guideline) ที่มีแนวทางปฏิบัติตั้งแต่ขั้นตอนการรับอาหาร การเก็บรักษาอาหาร การขนส่ง การแจกจ่ายอาหาร หลักปฏิบัติสำหรับผู้สัมผัสอาหาร เช่น การแช่แข็งอาหารส่วนเกินและติดฉลากใหม่ การระบุวันที่และระยะเวลาที่แนะนำ ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและการควบคุมอันตราย เช่น สารเคมี สารก่อภูมิแพ้ หลักปฏิบัติในการเตรียมอาหาร เช่น การทำละลายอาหารแช่แข็ง การทำให้สุก ทำให้เย็น อุ่นร้อน การรักษาความปลอดภัยอาหารระหว่างขนส่ง เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เพื่อให้อาหารที่แจกจ่ายยังคงมีความปลอดภัยและเหมาะสมต่อการบริโภค ช่วยให้เกิดความมั่นใจทั้งต่อผู้บริจาคและผู้รับบริจาครวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการบริจาคอาหารในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

ดร.นันทพร รติสุนทร ทีมวิจัยการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวว่า ทีมวิจัยซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์และปัญญาประดิษฐ์ (Applied Mathematics and Artificial Intelligence) และประสบการณ์ในการออกแบบและพัฒนาวิธีการและระบบ Intelligent Digital Platform เช่น ระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ และระบบเชื่อมโยงผลผลิตเพื่ออาหารกลางวัน นำมาสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยเป็นเครื่องมือดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพอัตโนมัติ สามารถนำไปเชื่อมต่อกับระบบ Cloud Food Bank มีมูลนิธิ SOS และองค์กรพันธมิตรเครือข่ายเป็นผู้ใช้งาน

โดยแพลตฟอร์มสามารถนำเสนอและแนะนำตัวเลือก การจัดสรรอาหารบริจาคพร้อมตารางเส้นทางการรับส่งอาหาร เพื่อลดความเสียหายของอาหาร และสามารถกระจายอาหารบริจาคได้ตามเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ผู้ใช้งานกำหนด เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ ลดภาระงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับผู้ใช้งานในการจัดการอาหารบริจาคได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วบนฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อรองรับการขยายฐานผู้บริจาคซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลดปริมาณอาหารส่วนเกิน และลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหารส่วนเกิน อีกทั้งช่วยลดภาระงานและสนับสนุนการตัดสินใจของผู้ดูแลระบบได้ดีขึ้น ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดิจิทัลดังกล่าว ล่าสุดทางเนคเทคได้ขยายการใช้งานโดยอยู่ระหว่างหารือความร่วมมือกับ BKK Food Bank ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อนำไปสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการด้วย

ดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า เอ็มเทค โดยทีมวิจัย TIIS ได้พัฒนาแนวทางและการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของอาหารส่วนเกิน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12.3 การลดขยะอาหารของประเทศ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (Food Loss and Waste) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ตามหมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560 – 2579 กำหนดเป้าหมาย SCP 3 ส่งเสริมให้ประเทศไทยมีระบบอาหารที่ยั่งยืน ในปี 2570 ต้องลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารลงร้อยละ 5 ต่อปีจากปีฐาน และแผนระยะยาวคือ การเพิ่มอัตราการหมุนเวียนวัสดุสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตร-อาหาร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในปี 2570

ทีมวิจัยได้นำแนวคิดด้านการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment : LCA) สำหรับประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Environmentally implications: Climate change) หรือภาวะโลกร้อน จากอาหารส่วนเกินเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มบริการอาหารทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งทำให้เกิดผลดีต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันจะนําไปสู่การลดขยะอาหารในอนาคต อีกด้วย”

นอกจากนี้ TIIS รับผิดชอบจัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของประเทศไทย (Thai National LCI database) และค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs Emission Factor : EF) ดังนั้นจึงสามารถนำโครงสร้างพื้นฐานและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง มาประยุกต์ใช้กับการจัดการอาหารส่วนเกินได้ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าร้านอาหารแห่งหนึ่งบริจาคอาหารส่วนเกิน 50 กิโลกรัม จะสามารถคำนวณได้ว่า การบริจาคครั้งนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กี่ต้น หรือลดการใช้พลังงานเท่ากับการปิดไฟกี่ชั่วโมง ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริจาคเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม แต่ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรด้วย ในอนาคต เรายังเล็งเห็นโอกาสที่องค์กรจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการขอรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งอาจนำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดได้ สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การลดขยะอาหารอย่างยั่งยืนในระยะยาว “

ดร.ปัทมาพร กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ สวทช. ได้ขับเคลื่อนโครงการการศึกษาแนวทางบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน หรือ Food surplus โดยที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาและทบทวนกฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และมีการประชุมรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่าข้อมูลจุดสำคัญของอาหารส่วนเกิน คือ 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตขึ้นมา จะถูกทิ้งซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต รวมถึงยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศด้วย โดยที่ผ่านมาโครงการฯ ได้มีความพยายามพัฒนาแนวทางการบริจาคอาหารส่วนเกินออกมาให้เหมือนกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี มาตรการด้านคาร์บอน เพื่อส่งเสริมการบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับ Food Bank เหมือนเช่นในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งทั้ง 2 มาตรการ ถือเป็นแนวทางเพื่อให้การจัดตั้ง Food Bank เกิดขึ้นได้จริงและไปต่อได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

“เรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์และคาร์บอนเครดิต ซึ่งการมีคาร์บอนเครดิตกับการบริจาคอาหารส่วนเกินนั้น โครงการฯ อยากเห็นภาพของ Food Bank ในประเทศไทยที่ขายคาร์บอนเครดิต จากการลดปริมาณขยะอาหารดังที่เกิดขึ้นจริงแล้วในประเทศเม็กซิโก ซี่งจะช่วยพลิกโฉมการดำเนินงาน Food Bank จากเดิมในรูปแบบการกุศล เป็นการขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งในส่วนนี้ยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ (audit) ที่จะเกิดขึ้นด้วย”

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า