สวทช. กรมการขนส่งทางราง และ สทร. หนุนการผลิตชิ้นส่วนเพื่อใช้ทดแทน ยกระดับอุตสาหกรรมระบบราง

สวทช. กรมการขนส่งทางราง และ สทร. หนุนการผลิตชิ้นส่วนเพื่อใช้ทดแทน ยกระดับอุตสาหกรรมระบบราง

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และ ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. กระทรวงคมนาคม ร่วมลงนามความร่วมมือการขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนา นวัตกรรมด้านมาตรฐานและการทดสอบ สำหรับผลิตภัณฑ์ในระบบราง เพื่อการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านระบบรางในประเทศไทย ที่อาคารแชมเบอร์ 10 เมตร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เทคโนโลยีระบบรางเป็นหนึ่งในระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากขนส่งผู้โดยสารจำนวนมาก และสามารถลดเวลาในการเดินทางได้จริง โดยประเทศไทยเอง ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้อย่างมหาศาล ทั้งในกรุงเทพมหานคร ตามเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น โคราช ฯลฯ ตลอดจนการพัฒนาระบบรถไฟรางทางคู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าในระยะทางไกล ที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงระบบรางรถไฟทางไกลสมัยใหม่ อาทิ รถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมกับ สปป. ลาว และมีแผนพัฒนาอีกหลายเส้นทางตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ที่กระทรวงคมนาคม ได้วางเป้าหมายและดำเนินการให้ระบบรางเป็นโครงข่ายคมนาคมหลักของประเทศ และเป็นผู้นำด้านระบบรางในภูมิภาค

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางให้กับประเทศอย่างยั่งยืน ทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระบบราง และการยกระดับความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตประชาชนด้านการขนส่งและการเดินทาง จำเป็นต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานเป็นปัจจัยสำคัญ สวทช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง จึงได้ให้ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PTEC ซึ่งมีความพร้อมด้านการทดสอบผลิตภัณฑ์ในระบบขนส่งทางรางในระดับสากล และได้รับการรับรองระบบคุณภาพ ISO/IEC17025 เรียบร้อยแล้ว เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบชิ้นส่วนรถไฟประเภทไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อาณัติสัญญาณของระบบรถไฟ ระบบสื่อสาร และด้านประสิทธิภาพการใช้งานต่าง ๆ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมปัจจุบันที่ต้องการปรับรูปแบบจากผลิตภัณฑ์แบบเดิมไปสู่การผลิตชิ้นส่วนเพื่อใช้ทดแทนในระบบขนส่งทางรางที่จะมีความต้องการมากขึ้น

นอกจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ของระบบรางในห้องปฏิบัติการทดสอบแล้ว PTEC ยังมีประสบการณ์ในการทดสอบการรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility : EMC) สำหรับรถไฟมาแล้วมากกว่า 20 ปี โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่การสำรวจการรบกวนแม่เหล็กไฟฟ้าของระบบควบคุมและโทรคมนาคมตลอดเส้นแนวราง ที่พาดผ่านสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล เสาโทรคมนาคม เสาวิทยุโทรทัศน์ ธนาคาร ระบบสัญญาณไฟจราจรบนถนน ซึ่งสถานที่ต่าง ๆ นี้ มีความเสี่ยงในการรบกวนสัญญาณควบคุมของระบบรถไฟด้วย โดยที่ผ่านมา PTEC ได้ดำเนินการทดสอบสำหรับรถไฟหลายเส้นทางแล้ว เช่น สายสีม่วง สายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีแดง สายสีทอง รวมถึงรถไฟฟ้า BTS อีกด้วย

ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมการทดสอบระบบรางนอกห้องปฏิบัติการมากยิ่งขึ้น ตามข้อกำหนดด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ (EHIA) ตามแนวทางสากล ซึ่งในปี 2566 สวทช. จึงให้ PTEC ทำการขยายขอบข่ายการทดสอบจากด้าน EMC โดยเพิ่มการทดสอบด้านการทดสอบเสียง (sound acoustic) เมื่อขบวนรถไฟวิ่งผ่านพื้นที่ชุมชน เพื่อกำหนดจุดวาง กำแพงกั้นเสียง ลดเสียงดังและการทดสอบแรงสั่นสะเทือนบนขบวนรถไฟขณะเคลื่อนที่ (rolling stock vibration) เพื่อให้ผู้โดยสารมีความสะดวกและปลอดภัยตลอดการเดินทาง

“ที่ผ่านมา สวทช. ร่วมเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึง กรมการขนส่งทางราง และ สทร. รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือร่วมกับภาคเอกชนที่มีความพร้อม และสนใจเข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยจะเน้นการนำความรู้ ความสามารถในการวิจัยพัฒนา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ที่ สวทช. มีให้เกิดขึ้นจริงและใช้ประโยชน์จริง เพราะ สวทช. ถือเป็นขุมพลังหลักของประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งเครื่องมือ บุคลากร และบริการที่พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการนำ วทน. ไปช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมระบบรางภายในประเทศและในภูมิภาค”

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะรับรองและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางขึ้นในประเทศไทย โดยใช้หลักการ “Thai First : ไทยทำ ไทยใช้” ของกระทรวงคมนาคม เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งกระทรวงคมนาคม เลือกที่จะใช้แรงงานขั้นสูงและคนไทยเป็นผู้ก่อสร้างงานโยธา เพื่อให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางโดยคนไทย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและลดการจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

“เรามี PTEC ของ สวทช. ซึ่งมีทรัพยากรจำนวนมากและบุคลากรที่มีความรู้ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบที่ทันสมัย องค์ความรู้ใหม่และเทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้ จะเข้ามาช่วยการพัฒนาระบบรางเพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยี เราควรจะยืนอยู่ด้วยเทคโนโลยีของคนไทย ทั้งการซ่อม การสร้างและใช้เทคโนโลยีของประเทศไทย ตามนโยบายบาย Thai First ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเราควรจะเริ่มต้นและเรียนรู้กับเทคโนโลยีเหล่านี้”

ทั้งนี้เมื่อ สวทช. และ สทร. และกรมการขนส่งทางราง ร่วมกันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศ เมื่อกรมการขนส่งทางราง ออกมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานการผลิตแล้ว ทาง สวทช. มีองค์ความรู้และวิธีการวิเคราะห์ทดสอบที่ได้มาตรฐานสากล ทาง สทร. ก็สามารถมาบูรณาการความรู้เหล่านี้เข้ามาเพื่อทำงานร่วมกันได้ เพื่อลดการนำเข้าและลดการจ่ายเงินตราต่างประเทศ ที่สำคัญคือคนไทยได้ความรู้เหล่านี้ มีมูลค่าที่เกิดขึ้นกับคนไทย ทั้งมูลค่าการจ้างงาน การผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมระบบรางได้ เป็นมูลค่าเพิ่มที่ลดการนำเข้าได้เป็นอย่างดี

ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. กล่าวว่า สทร. ยึดเป้าหมายของประเทศในการขนส่งทางรางจาก 15%  เป็น 40% ในอนาคต ซึ่ง สทร. ไม่สามารถดำเนินการได้โดยองค์กรเดียว หากขาดหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม เพื่อดำเนินการร่วมกัน ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีในการซ่อมบำรุง การส่งเสริมการวิจัยเพื่อผลิตชิ้นส่วนในประเทศ และระบบทดสอบและรับรองมาตรฐานซึ่งทาง PTEC สวทช. มีความเชี่ยวชาญในระบบทดสอบมาตรฐานที่ได้มาตรฐานสากล ความร่วมมือในการดำเนินงานขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนา นวัตกรรมด้านมาตรฐานและการทดสอบ สำหรับผลิตภัณฑ์ในระบบราง เพื่อการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านระบบรางในประเทศไทย

“สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการเวลาจะใช้ชิ้นส่วนใดก็จะอ้างอิงระบบมาตรฐานในการทดสอบ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการร่วมมือกับ PTEC สวทช. ครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการผลิตชิ้นส่วนทดแทนที่ได้มาตรฐาน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ตามเป้าหมาย Thai Frist ของกระทรวงคมนาคมต่อไป”

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า