สภานโยบาย อววน. เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
วันที่ 27 ตุลาคม 2565 ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยหนึ่งในวาระเพื่อพิจารณาที่สำคัญวันนี้ คือ กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 3.11 หมื่นล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงินดังกล่าว พร้อมกับแต่งตั้ง รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ เป็นประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้าน ววน.
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า สกสว. ได้จัดทำกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศ และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงินดังกล่าว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยจะจัดสรรแบบ Block Grant หรือ Multi-year ให้สอดคล้องกับ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ปี พ.ศ. 2566-2570 และตามศักยภาพของนักวิจัยหรือโครงการ มีความโปร่งใสและธรรมาภิบาล มุ่งผลสัมฤทธิ์ที่การพัฒนาระบบ ววน. ให้มีความเข็มแข็ง และเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยตั้งเป้าเพิ่มรายได้ต่อหัวให้ได้ภายในปี 2580 จำนวน 178,478 บาท ต่อคนต่อปี และคาดว่าจะมีผลตอบแทนจากการลงทุน 2 เท่าในปี 2570 ประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ งบประมาณจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund) ร้อยละ 35-40 และงบประมาณรายยุทธศาสตร์ (Strategic Fund) ร้อยละ 60-65 ซึ่งมี 25 แผนงาน เน้น BCG ด้านการแพทย์และสุขภาพ ด้านเกษตรและอาหาร เศรษฐกิจฐานราก ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ อุตสาหกรรมแห่งอนาคตและบริการแห่งอนาคต การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ความร่วมมือด้านการวิจัยเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูงของอาเซียน
นอกจากนี้ยังมีงบเพื่อการขับเคลื่อนงานตาม พ.ร.บ.การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ จำนวน 5 พันล้านบาท “การเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณจำเป็นต้องมีแผนงานใหม่รองรับ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่”
ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ระบุสำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการขับเคลื่อนงบของกองทุนส่งเสริม ววน. ยกตัวอย่างเช่น นโยบายนวัตกรรม เทคโนโลยี ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย 190 รายการ วัคซีนโควิด-19 วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์และบรรจุภัณฑ์ขั้นสูง บริการการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ 3 รายการ ธุรกิจฐานนวัตกรรม ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 400 ราย เมืองน่าอยู่ 5 เมือง กำลังคนสมรรถนะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 1,000 คน
ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองของพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม 7 ฉบับ ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาโดยคณะที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิพิจารณากฎหมายฯ ร่วมกับคณะอนุกรรมการกฎหมายของ สกสว. ซึ่งมี ศ.กิตติคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน โดยมีกฎหมายลำดับรองที่อยู่ในอำนาจของสภานโยบายจำนวน 7 ฉบับ ได้แก่
1) ร่างประกาศสภานโยบายเรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม
2) ร่างประกาศสภานโยบายเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการรายงานผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ผู้ให้ทุนเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยจะต้องรายงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ผ่านระบบสารสนเทศหรือช่องทางที่ประชาชนเขาถึงได้โดยสะดวก
3) ร่างประกาศสภานโยบายเรื่อง สิทธิและหน้าที่ของคนต่างด้าวซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยที่จะได้รับการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยทำสัญญาและการใช้ประโยชน์ต้องมีฐานการผลิต การสร้างนวัตกรรม สร้างความรู้ หรือจ้างงานหลักในไทย
4) ร่างระเบียบสภานโยบาย ว่าด้วยการขอใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมโดยบุคคลภายนอก
5) ร่างระเบียบสภานโยบาย ว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ รวมถึงถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีแก่เกษตรกร กลุ่มอาชีพในชุมชน วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
6) ร่างระเบียบสภานโยบาย และคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม
7) ร่างแนวทางของสภานโยบายเกี่ยวกับการประกาศให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 แก่คนต่างด้าวซึ่งไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย หากผลงานจากการร่วมทุนกับหน่วยงานของรัฐจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศ คนต่างด้าวเป็นผู้รับทุนและมีตัวแทนในราชอาณาจักร ให้เสนอเรื่องต่อ กสว. และสภานโยบาย