สกสว. และ สสส. ร่วมผลักดันการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ขับเคลื่อนสังคมไทยอย่างยั่งยืน

สกสว. และ สสส. ร่วมผลักดันการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ขับเคลื่อนสังคมไทยอย่างยั่งยืน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย และนักวิชาการ จัดเวทีเสวนาในประเด็น “การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลด้านการวิจัยและฐานข้อมูลด้านสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสังคม” ณ ห้องประชุม 201 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ในวันที่ 31 ตุลาคม 2565

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีหน้าที่ในการจัดงบประมาณด้านการวิจัย ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กววน.) แก่หน่วยรับงบประมาณกว่า 170 หน่วยงาน และ 9 หน่วยบริหารจัดการทุน แบ่งเป็นงบประมาณเพื่อดำเนินการด้านงานมูลฐาน (Fundamental Fund : FF) และงานวิจัยเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund; SF) โดยสิ่งสำคัญก่อนการจัดสรรงบประมาณ ต้องมีการจัดทำแผนวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม แล้วจึงดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนประเทศ

โดย สกสว. ทำงานร่วมกับภาคีหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำฐานข้อมูลเชิงประเด็น เพื่อการตัดสินใจวางแผนกำหนดแผนทิศทางและค่าเป้าหมาย รวมถึงการพยายามมองภาพในอนาคต นอกจากนี้ยังต้องมีระบบการวิเคราะห์และตัดสินใจเพื่อการลงทุนด้าน ววน. และติดตามประเมินผลสู่การใช้ประโยชน์และพัฒนาศักยภาพทั้งหมด 4 ยุทธศาสตร์ คือ ความสามารถด้านการแข่งขัน ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และการมองภาพในอนาคต

สิ่งเหล่านี้จะทำไม่ได้หากไม่มีการวางแผนและทิศทางการทำงาน ทำให้สิ่งสำคัญแรก คือ “การใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ” ข้อมูลอย่างเดียวไม่พอแต่ต้องมีระบบการวิเคราะห์ และการตัดสินใจ ในขณะเดียวกันทางด้านนักวิจัยก็มีความจำเป็นในการ “ใช้ข้อมูลเพื่อการวิจัย” ซึ่งประเทศไทยยังใช้ข้อมูลที่เป็น Big data น้อยมาก นักวิจัยบางกลุ่มด้านสังคมมักใช้ข้อมูลเชิงสถิติ จึงควรทำให้เป็นข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายขนาดใหญ่ ตอบโจทย์ของประเทศได้ รวมถึงศักยภาพการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยได้จริง และเมื่อหลังงานวิจัยออกมาแล้วนั้น “การสื่อสารงานวิจัย” ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารเชิงนโยบาย หรือสื่อสาธารณะ ที่ให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของผลงานวิจัย ท้ายที่สุดที่สำคัญมาก คือ สกสว. ต้องพึ่งพาอาศัยข้อมูลจากนักวิจัย และฐานข้อมูล NRIIS ตั้งแต่ Input ของงานวิจัย กระทั่งผลผลิต Output และผลที่เกิดขึ้น รวมถึงการติดตามผลลัพธ์ ผสมผสานกับการประเมินเชิงลึก

​ยกตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์ที่ 2 โจทย์ท้าทายสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสังคมและสุขภาวะที่ดีให้กับสังคมไทย ผ่าน 9 แผนงาน เช่น เศรษฐกิจฐานราก ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ระบบสุขภาพ สุขภาวะของเมือง สิ่งแวดล้อม การหารือในวันนี้ทำให้เห็นว่า สสส. มองการขับเคลื่อนจากปลายทาง ขณะที่ สกสว. เริ่มจากต้นทาง ทำให้เราอาจต้องถอยกลับมาดูปลายทาง และสนใจเรื่อง Open data เพื่อให้ข้อมูลเข้าถึงประชาชนมากที่สุด เป็นโอกาสดีและจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง สสส. และ สกสว. ที่จะออกแบบการทำงานร่วมกันต่อไป

​ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของ สสส. คือการทำให้สุขภาพของคนดีขึ้น โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 พลัง ในการขับเคลื่อนเรื่องสำคัญในสังคม ได้แก่ 1. พลังปัญญา หรือพลังความรู้ เพื่อนำไปเชื่อมกับยุทธศาสตร์ที่ 2. พลังสังคม และ 3. พลังนโยบาย โดยความสำคัญในครั้งนี้คือ “พลังความรู้ / ฐานความรู้” ในการเสนอภาคนโยบายเพื่อก่อให้เกิดกติกาของสังคม นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ นำไปสู่สุขภาวะที่ดี เราต้องใช้พลังความรู้ตลอดเวลาเพื่อให้เกิดนโยบายที่ดี เพราะสุดท้ายปลายทางไม่ได้จบที่เรื่องวิจัย แต่งานวิจัยจะนำมาเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ว่าจะด้านไหนก็ตาม

ซึ่งในมุมของ สสส. มีความสนใจในด้านของสุขภาพเป็นพิเศษ ทั้งนี้ เรายังต้องการฐานข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาพัฒนาต่อ รวมทั้งการเชื่อมต่อกับ Big Data ต่าง ๆ ที่ต้องมีการทำงานร่วมกันมากขึ้น ซึ่งความต้องการของ สสส. คือความเชื่อมโยงตั้งแต่ฐานข้อมูล สารสนเทศ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อกระจายไปสู่ภาคประชาชน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในอนาคต รวมทั้งประเด็นของความเหลี่ยมล้ำในสังคมที่มีช่องว่างมากขึ้น

​ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สกสว. ร่วมหารือในประเด็นแนวทางการใช้ข้อมูลด้านการวิจัยและฐานข้อมูลด้านสุขภาพ เพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ระดับองค์กร ระบุว่า ฐานข้อมูลจะเป็นตัวระบุได้ว่ายังมีความต้องการ หรือขาดด้านใดบ้างในแต่ละพื้นที่ ที่สามารถมองไปจนถึงความเหลี่ยมล้ำ รวมทั้งภาพรวมของงานวิจัย ตลอด 3 ปี ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ววน. ตัวอย่างการทำงานเชิงรุกร่วมกับทางกรุงเทพมหานคร การจับคู่งานวิจัย ววน. กับนโยบาย 9 มิติของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่มีการแปลงนโยบายออกมา เพื่อค้นหางานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ได้ ทาง สกสว. ได้จัดทีมเชิงรุกเข้าไปคุยกับผู้ว่าฯ เพื่อพัฒนาร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงด้านสุขภาพด้วย เพื่อให้สามารถดึงข้อมูลออกมาใช้ได้อย่างทันท่วงที

​“คนที่เผชิญหน้างานที่ท้าทายคือ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนสังคม ซึ่งถือจิกซอว์กันคนละตัว เราจะต่อจิกซอว์กันได้อย่างไรเพราะไม่มีรูปแบบตายตัว สิ่งที่บอกได้คือ “ข้อมูลและฐานข้อมูล” ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการ machine learning การใช้ประโยชน์งานวิจัยภาระโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จากฐานข้อมูลภาระโรค ซึ่งต้องแปลงข้อมูลรายละเอียดคำนิยามโรคให้อยู่ในรูปแบบเวกเตอร์ประจำประโยค แปลงข้อมูลรายละเอียดงานวิจัย นอกจากนี้ยังใช้กระบวนการรับฟังข้อมูลจากประชาชน (social listening) นำคำบ่นของ ปชช. มาแปลงให้อยู่ในเวกเตอร์แล้วดูว่ามีงานวิจัยอะไรบ้าง มีช่องว่างอะไร”

เช่นเดียวกับ รศ. ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาระบบ ววน. ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ร่วมหารือในประเด็น กรณีศึกษาการขับเคลื่อนงานวิจัยและระบบข้อมูลสู่ชุมชนพื้นที่ ที่ สกสว. มุ่งหวัง เพื่อให้เกิดการทำงานในเชิง Eco System ตาม พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ด้วย “เทคโนโลยีที่เหมาะสม” สำหรับการพัฒนาท้องถิ่นหรือชุมชนต่อไป

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า