สกสว. เยือนสถาบันวิจัยและหน่วยงานให้ทุนวิจัยในเนเธอร์แลนด์ พร้อมหารือเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก

สกสว. เยือนสถาบันวิจัยและหน่วยงานให้ทุนวิจัยในเนเธอร์แลนด์ พร้อมหารือเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สกสว. รวมถึงผู้บริหารของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) เยี่ยมชมสถาบันวิจัย และหน่วยงานให้ทุนวิจัย (Funding Agency) ของประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้เรื่องความก้าวหน้าของการพัฒนาการวิจัยและประสบการณ์ของประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศไทย พร้อมเข้าร่วมหารือกับเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก เพื่อแนะนำระบบ ววน.ของประเทศไทย และบทบาทหน้าที่ของ สกสว.มุ่ งสร้างความร่วมมือด้าน ววน. กับประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมถึงแนวทางการสนับสนุนนักเรียนทุนของประเทศไทยในอนาคต

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 คณะของ สกสว. และ สวก. ได้เข้าพบ Mr. Marco Otte Senior Advisor Corporate Strategy & Account พร้อมทั้งเยี่ยมชม Wageningen University & Research (WUR) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีทั้งคณะวิชาต่าง ๆ สำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก และสถาบันวิจัยด้านต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นด้านการเกษตรและอาหารของโลก มีนักศึกษากว่า 13,200 คน จาก 100 กว่าประเทศทั่วโลก และนักวิจัยกว่า 3,000 คน ที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนและการวิจัยเรื่องอาหารและส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ใน 3 ด้าน คือ 1. สังคมและสุขภาวะที่ดี (social and well-being) 2. ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของการใช้ชีวิต (natural resource and living enivironment) 3. อาหาร การบริโภค และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากพืช (Food, Feed & Biobase production) โดยการศึกษาทั้ง 3 ประเด็นจะศึกษาในลักษณะการใช้ศาสตร์ที่หลากหลาย (muti-disciplinary)

WUR มีการแบ่งขอบเขตการทำงานออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1. เทคโนโลยีการเกษตรและวิทยาศาสตร์อาหาร (Agrotechnology & Food Science group) 2. สัตวศาสตร์ (Animal Science group) 3. วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Environment Science group) 4. กลุ่มศาสตร์ด้านพืช (Plant Science group) และ 5.สังคมศาสตร์ (Social Science Group) แต่ละกลุ่มจะมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชนชั้นนำของโลก

คณะยังมีโอกาสเยี่ยมชมสถาบันวิจัยต่าง ๆ เช่น สถาบันวิจัยเรื่องอาหารและความปลอดภัย ที่มีบทบาทในการพัฒนาวิธีการตรวจสอบ การตรวจวัดเชื้อโรคและสารเคมีในอาหาร การให้ความรู้ต่าง ๆ ในเรื่องวิธีการวิเคราะห์ ทดสอบและระบบการประกันคุณภาพ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่สำคัญในการวิเคราะห์และทดสอบการปนเปื้อนของอาหาร แล้วแจ้งไปยังหน่วยงานรัฐเพื่อประกาศเตือนประชาชนผู้บริโภครับทราบ กรณีที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคอันตรายในอาหาร สถาบันวิจัยเรื่องอาหารและอาหารที่มีส่วนประกอบจากพืช ซึ่งได้เยี่ยมชมการวิจัยและพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวของสินค้าเกษตร

กลุ่มวิจัยนี้ได้มีการวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง การขนส่งสินค้าเกษตร ของประเทศไทยใน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ Bottlenecks in Thai Agro Logistics (2010) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนโดยกระทรวงคุณภาพชีวิต ธรรมชาติและเกษตรกรรม ของประเทศเนเธอร์แลนด์ เรื่องที่สองคือเรื่อง Development of a Framework for an Argo-logistic Strategy for Thailand (2019) กรณีศึกษาทุเรียน และเยี่ยมชม Netherlands Plant Eco-phenotyping Centre (NPEC) ซึ่งมีการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยี plant factory กับทางประเทศไทย

ผอ.สกสว ยังได้เข้าพบคุณชาตรี อรรจนานันท์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก เพื่อแนะนำระบบ ววน.ของประเทศไทย บทบาทหน้าที่ของ สกสว. และแผน ววน. ปี 2566-2570 พร้อมรับคำแนะนำแนวทางการวิจัย การสร้างความร่วมมือด้าน ววน. กับประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมถึงแนวทางการสนับสนุนนักเรียนทุนของประเทศไทย

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ผอ.สกสว. และคณะ พร้อมด้วยคุณอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป และคุณชาตรี อรรจนานันท์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก เข้าศึกษาดูงานที่สถาบัน Deltares โดยมีคุณ Tjitte A.Nauta ผู้จัดการด้านภูมิภาคเอเชีย ให้การต้อนรับและนำเสนอบทบาทหน้าที่ของสถาบัน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการและแก้ปัญหาเรื่องน้ำและน้ำใต้ผิวดินของประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมุ่งเน้นการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่สันดอน พื้นที่ชายฝั่งทะเล และลุ่มแม่น้ำ

สถาบันนี้ได้มีการวิจัยและเสนอ Nation Action Plan on Adaptive Flood Risk Management in Thailand เมื่อปี 2013 ที่มีการเสนอวิธีการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น กลางและยาว สถาบัน Deltares เข้ามาทำงานและมีความร่วมมือกับไทยในบางช่วงเวลา โดยเฉพาะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ทั้งยังมีข้อเสนอเรื่องความร่วมมือในการแก้ปัญหาเรื่องการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่จะส่งผลกระทบต่อเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ทะเลทั่วโลก สำหรับประเทศไทย กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จึงเป็นโอกาสอันดีและสำคัญหากประเทศไทยและประเทศเนเธอร์แลนด์ จะร่วมมือกันหาทางป้องกันปัญหาดังกล่าวร่วมกัน

ผอ.สกสว. ได้เข้าพบกับ Prof.Marcel Levi ประธาน Dutch Research Council (NWO) และคณะ เพื่อหารือแลกเปลี่ยนผลการจัดประชุม 2022 Global Research Council- Asia Pacific Regional Meeting ครั้งที่ 22 พร้อมเตรียมประเด็นการประชุม Global Research Council ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเฮก ในกลางปีหน้า โดย NWO จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน รวมถึงได้แนะนำระบบ ววน. ของไทย ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของ สกสว. และแผน ววน. ปี 2566-2570 มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสนับสนุนการวิจัยของ NWO โดยเฉพาะการสนับสนุนการวิจัยในเรื่อง Transnational research ให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อหารือแนวทางการร่วมมือสนับสนุนการวิจัยระหว่าง 2 ประเทศ หรือความร่วมมือหลากหลายประเทศต่อไป

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า