สกสว. ร่วมหารือ มรภ. เพชรบุรี ขับเคลื่อนงานวิจัยตามแผนด้าน ววน. มุ่งสู่การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่สูงสุด
ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผอ.กลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานด้าน ววน. ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร่วมประชุม พร้อมหารือทิศทางการบริหารจัดการแผนงานและโครงการ ววน. โดยมี ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ให้การต้อนรับ และนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการและกิจกรรม ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ววน. ณ อาคารสุเมธตันติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566
ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม กล่าวว่า จ.เพชรบุรี เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคตะวันตกที่อุดมสมบุรณ์ ที่ได้รับรองเป็นมรดกโลก มีเขื่อน และแม่น้ำตามธรรมชาติ นับเป็นหน้าด่านลงสู่ภาคใต้ของประเทศไทย ด้านวัฒนธรรม เป็นแหล่งสกุลช่างในการสร้างซ่อมแซมวัดวาอารามต่าง ๆ มหาวิทยาลัยนับเป็นคลังปัญญาของท้องถิ่น อาทิ ด้านครู ด้านการพยาบาล ด้านอาหารและการท่องเที่ยว ด้านธุรกิจ การพัฒนาการค้า ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และอื่น ๆ
“กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เรามีพันธกิจในการผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพสูง ที่มีบุคลากรรวมกว่า 400 คน โดยเฉพาะทางด้านอาหาร ที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เชื่อว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มีความพร้อมในการผลิตกำลังคน และอีกส่วนสำคัญคือ การสนับสนุนจากพาร์ตเนอร์ด้านต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน นอกเหนือจากการเรียนการสอนคือ การวิจัย ในการใช้โจทย์ปัญหาเชิงพื้นที่ ที่มีความเข้าใจในทุกมิติ ภายใต้ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่มีอยู่ มั่นใจว่า จ.เพชรบุรี มีความแข็งแกร่งไม่แพ้ภูมิภาคอื่น ๆ อย่างแน่นอน”
ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง กล่าวถึง กองทุน ววน. กับการหนุนเสริมการดำเนินงานของหน่วยงานในระบบ ววน. และนโยบายและทิศทางการสนับสนุนงบประมาณของทุนสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund : FF) ระบุว่า นับตั้งแต่เมื่อปี 2562 ที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการวิจัยของประเทศ ทำให้ สกสว. มีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณไปยัง 9 หน่วยบริหารจัดการทุน มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ และกระทรวงต่าง ๆ โดยมีโครงสร้างแผนงานด้าน ววน. พ.ศ. 2566-2570 ที่แบ่งเป็น 4 ด้าน 25 แผนงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ ที่มุ่งหวังผลกระทบต่อประเทศคือ เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีในระดับสากล ผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมสูงขึ้น งบลงทุนด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น สังคมมีความตระหนักรู้ในความสำคัญ และประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งสู่อันดับดัชนีความยั่งยืน (SDG Index) ที่สูงขึ้น ช่วยลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ คอร์รัปชัน และความรุนแรง เพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ทั้งนี้ ได้มีการจัดแสดงผลงานวิจัยที่แก้ปัญหาเชิงพื้นที่ ตั้งแต่ “ระดับต้นน้ำ” เช่น การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ สินค้าชมพู่เพชร กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรด และผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่มเกษตรกร “ระดับกลางน้ำ” เช่น ขนมหวานเมืองเพ็ชร์ น้ำตาลโตนด และ “ระดับปลายน้ำ” เช่น การเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยว การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบเกษตรอัตโนมัติฯ การนวดไทยแบบพีบีอาร์ยู แก้ปวดอาการไมเกรน ลูกประคบสมุนไพร ไม้นวดตาล ก่อนจะมีการหารือทิศทางการบริหารจัดการแผนงานและโครงการ ววน. และแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวิจัยและนวัตกรรม เพื่อช่วยในการสร้างโอกาสและต่อยอดสู่การแข่งขันระดับต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต