วศ.อว. เตือนภัย “ภาวะฝนกรด” กระทบสุขภาพ หลังโซเชียลแชร์ภาพถนนเป็นฟองสีขาวหลังฝนตก แนะหลีกเลี่ยงการตากฝนและไม่ควรรองรับน้ำฝนในช่วงแรก
เมื่อเช้าวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นพ. รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามที่มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล สื่อโซเชียลได้โพสต์ภาพฟองสีขาวที่บริเวณต้นไม้ริมทางเท้าภายหลังฝนตก โดยกรณีฟองที่เกิดริมทางเท้านั้นสามารถอธิบายได้ว่า เป็นฟองอากาศที่เกิดขึ้นจากอากาศที่ถูกดักจับโดยของเหลวที่มีแรงตึงผิวสูงมาก โดยการเกิดฟองอากาศจะประกอบด้วย (1) ของเหลว คือฝนกรด (2) อากาศที่แทรกอยู่ในรูพรุนขนาดเล็กของพื้นดินหรือพื้นยางมะตอย (3) สารลดแรงตึงผิว บนพื้นผิวถนน และบรรยากาศ ประกอบไปด้วยสารจำพวกน้ำมัน (โดยเฉพาะพวกน้ำมันปิโตรเลียม) เช่น น้ำมันเกียร์ น้ำมันจากสารทำความเย็น น้ำมันเบรค และ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดจากฝนและมลพิษ ในรูปของฝนกรดนั่นเอง
ปรากฏการณ์ฝนกรดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน มีสาเหตุสำคัญมาจากกิจกรรมของมนุษย์โดยตรง เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะการเผาไหม้ถ่านหินในอุตสาหกรรมไฟฟ้า การปล่อยควันพิษและของเสียจากโรงงานต่าง ๆ รวมไปถึงมลพิษจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ โดยกระบวนการเผาไหม้ถ่านหินและน้ำมันดังกล่าว มีการปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2¬) และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) รวมถึงฝุ่นละออง ออกสู่บรรยากาศ และทำปฏิกิริยากับไอน้ำหรือน้ำฝน เปลี่ยนรูปไปเป็นกรดซัลฟิวริก (H2SO4) กรดไนตริก (HNO3) และ กรดชนิดอื่น ๆ ตกลงมาบนพื้นผิวโลก ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ผืนดิน ป่าไม้และสิ่งก่อสร้างอย่างมาก มากไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรงอีกด้วย นั่นคือ ฝนกรด สร้างความระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากการบริโภคน้ำฝนที่เพิ่งตกลงมาใหม่ๆ อาจเสี่ยงต่อการดื่มน้ำที่มีสภาวะเป็นกรดและมีสารพิษปนเปื้อน
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ แนะนำประชาชนควรหลีกเลี่ยงการตากฝน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจและโรคผิวหนัง หากโดนฝนเมื่อกลับบ้านควรรีบอาบน้ำ สระผม เพื่อชำระสิ่งสกปรกแล้วเช็ดตัวเป่าผมให้แห้ง นอกจากนั้นไม่ควรรองรับน้ำฝนที่ตกในช่วงแรก ๆ เพื่อการอุปโภคและบริโภค ควรปล่อยให้ฝนตกสักระยะหนึ่งก่อน เพื่อชะล้างสิ่งสกปรกในอากาศและหลังคาให้สะอาดเสียก่อน
การแก้ไขการเกิดฝนกรดอย่างมีประสิทธิภาพคือ การลดจำนวนปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ ที่จะเข้าสู่บรรยากาศจากโรงงานไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปและยานพาหนะ โดยทางโรงงานจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการเกิดก๊าซมลพิษเหล่านี้ โดยการจัดให้มีอุปกรณ์ในการดักจับอย่างถูกต้อง นอกจากนั้นการแก้ไขที่ต้นตอนั่นคือ ตัวเราเอง โดยเราสามารถช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าให้เกิดการเผาไหม้น้อยที่สุดได้ เช่น การเปิดเครื่องปรับอากาศให้น้อยลง ปิดไฟเมื่อไม่ใช้ ใช้รถยนต์ให้น้อยลง เพียงแค่เราร่วมมือกันคนละนิด ไม่ก่อให้เกิดการผลิตของเสียและการเผาไหม้ การเกิดฝนกรดก็จะลดน้อยลงไปโดยปริยาย
ในปัจจุบันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างให้ความสนใจและร่วมกันแก้ไขปัญหาฝนกรด พบว่านโยบายภาครัฐของหลายกระทรวง ให้ความสำคัญในการลดมลพิษที่ก่อให้เกิดฝนกรด อาทิ กระทรวง อว. ส่งเสริมการสร้างงานวิจัยเพื่อลดมลพิษทางอากาศ เช่น การพัฒนาเครื่องดักจับก๊าซมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้และที่เจือปนอยู่ในก๊าซชีวภาพ ตลอดจนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อตรวจวัดสภาพมลพิษทางอากาศของประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาตรการบังคับใช้มาตรฐาน Euro5 เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดแทนการเผาอ้อยก่อนตัด ผ่านการสมทบจ่ายค่าแรงงานให้แก่เกษตรกรที่ตัดอ้อยสด กระทรวงพลังงาน ได้ออกนโยบาย 3C หรือ Clean-Care-Change โดย CLEAN-ยกระดับคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงโดยปรับคุณภาพน้ำมันจาก Euro4 ไป Euro5 ซึ่งจะมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm, CARE-ส่งเสริมการเข้าศูนย์บริการเพื่อดูแลเครื่องยนต์, และ CHANGE-สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซมลพิษ กระทรวงคมนาคม มีนโยบายกำหนดมาตรการตรวจสภาพรถยนต์ให้มีเกณฑ์ที่ปลอดภัยมากขึ้นและลดการปล่อยมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการจัดการไฟในป่า ไฟในพื้นที่เกษตรกรรม ในส่วนของภาคประชาชน สามารถมีส่วนร่วมได้โดยการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ลดการใช้งานพาหนะส่วนตัว หมั่นตรวจสอบสภาพพาหนะส่วนตัว ลดการเผาไหม้ในที่โล่ง เป็นต้น