วว. เตรียมโชว์ผลงานวิจัยพัฒนา บริการ วทน. ส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ @ ProPak Asia 2024 งานแสดงเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิต การแปรรูป บรรจุภัณฑ์ชั้นนำ

วว. เตรียมโชว์ผลงานวิจัยพัฒนา บริการ วทน. ส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ @ ProPak Asia 2024 งานแสดงเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิต การแปรรูป บรรจุภัณฑ์ชั้นนำ

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมผู้แทนหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และบริษัท อินฟอร์ม่า มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน ProPak Asia 2024 งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีอันดับ 1 แห่งภูมิภาคเอเชีย ด้านการผลิต แปรรูปและบรรจุภัณฑ์ ภายใต้แนวคิด “เพิ่มพลังความสำเร็จในกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและการลงทุน” ซึ่ง บริษัท อินฟอร์ม่า กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 15 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ Hall EH 98-104 ไบเทค บางนา

โดยเป็นงานที่จะตอบโจทย์ครบทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของเทคโนโลยีกระบวนการแปรรูปอาหาร บรรจุภัณฑ์ การจัดเก็บและการขนส่ง ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สำหรับผู้ประกอบการ Start Up, SME, ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ เพื่อนำนวัตกรรม เทคโนโลยี อัปเดตเทรนด์ และความรู้ใหม่ สู่การต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า  ทั้งนี้คุณสายันต์ ตันพานิช ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมคณะผู้บริหารและบุคลากร วว. ร่วมเป็นเกียรติและจัดแสดงนิทรรศการภารกิจ “ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย” ด้วย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

โดยในปีนี้ วว. จะนำผลงานเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ภายใต้ Theme : R&D for Carbon Neutral Society ณ บูท FY 475 Hall EH 101 นำเสนอผลงานวิจัยพัฒนาและบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีศักยภาพส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศไทย เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร/อุตสาหกรรมเกษตร นวัตกรรมยกระดับพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง การนำขยะกลับมาใช้ใหม่ การใช้ประโยชน์ CO2 จากโรงงานหลอมแก้ว เพื่อเลี้ยงสาหร่ายระดับอุตสาหกรรม สำหรับนำไปเป็นอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ การตรวจรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล/การบริการทวนสอบคาร์บอนฟุตพรินต์ (CFO) ภายใต้ขอบข่ายข้อกำหนดขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการอบรมสัมมนาด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 หลักสูตร ได้แก่ 1) มาตรฐานสากลสำหรับพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2) การยืดอายุอาหาร โดยเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และการประเมินอายุการเก็บรักษาอาหาร 3) การตั้งค่าและการใช้ความไม่แน่นอน เป้าหมายเพื่อพัฒนาวิธีการทดสอบ 4) กลยุทธ์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน : เร่งการประเมินคาร์บอนฟุตฟรินต์ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และ 5) ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากงานวิจัยสู่การผลิตพาณิชย์

ในฐานะหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเป็นหน่วยงานด้านวิจัยพัฒนา และบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของประเทศ ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากกว่า 60 ปี ในการดำเนินงานด้านวิจัยพัฒนา บริการ ทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านอาหาร ที่สามารถเสริมศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ให้การสนับสนุนการจัดงาน ProPak Asia มาอย่างยาวนาน โดยในปี 2024 เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม การบรรจุภัณฑ์และเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทย มุ่งเน้นให้ธุรกิจกลุ่มนี้มีโอกาสเติบโต และเป็นแหล่งผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพตามมาตรฐานระดับโลก

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ร่วมเสนอความคิดเห็นในตอนหนึ่งของการแถลงข่าวว่า จากการที่รัฐบาลพยายามผลักดันอาหารไทยให้เป็น Soft Power สำคัญในการสร้างจุดขายให้กับประเทศและสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารและโรงงานผลิตอาหาร มีบทบาทและได้รับโอกาสสำคัญที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอาหารไทย วัตถุดิบสินค้าเกษตร และสินค้าอาหารประเภทอื่น ๆ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศและธุรกิจให้เติบโตร่วมกันไปด้วย

สิ่งสำคัญนอกเหนือจากอาหารแล้ว “บรรจุภัณฑ์” สามารถใช้เป็น Soft power ที่เสริมให้อาหารมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่เป็นใบไม้ เช่น ใบตองสด หรือขนมไทยที่ใช้กระทงใบตอง เป็นภาชนะและเป็นเอกลักษณ์ของขนมไทยหรือขนมชนิดอื่น ๆ เช่น กาละแม ขนมจาก ข้าวหลาม เป็นต้น หรืออาหาร เช่น หลนเต้าเจี้ยวที่ใช้กะลามะพร้าวขัดใส่แทนชาม สามารถใช้เสิร์ฟในร้านอาหารหรือโรงแรมระดับห้าดาว ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การสร้างสรรค์นวัตกรรม และเทคโนโลยีในการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสําคัญในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ Soft Power ของประเทศไทย ในสายอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมั่นว่าการใช้ Soft Power ในด้านการวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารผ่านการร่วมมือกับ วว. และหน่วยงานเครือข่าย จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ เตรียมความพร้อมในด้านคุณภาพและมาตรฐานด้านอาหาร เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลกอย่างยั่งยืนต่อไป

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า