วช.หนุนงานวิจัยช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย ขยายผลโมเดลต้นแบบ 25 จังหวัด เสริมภูมิคุ้มกันให้สังคม
แม้ปัญหาการฆ่าตัวตายจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม แต่ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบและสร้างความสูญเสียไม่เพียงแต่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตเท่านั้น แต่เป็นความสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจ ความสูญเสียทางสังคม ที่สามารถป้องกันได้หากมีระบบการป้องกันดูแลและองค์ความรู้ที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 คนในสังคมได้รับผลกระทบซ้ำเติมมากขึ้นจากปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันทำให้เกิดปัญหาการฆ่าตัวตายมากขึ้น
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เห็นความสำคัญของปัญหาจึงได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อศึกษาวิจัยเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทย”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากสถิติขององค์การอนามัยโลกพบว่า ในปีหนึ่งจะมีผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จทั่วโลกเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน นั่นคือมีการฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที ในประเทศไทยเดิมอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสถิติอยู่ที่ 6-6.5 ต่อประชากรแสนคน ขณะนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7-7.5 ต่อประชากรแสนคน แต่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 พบว่า ในบางประเทศอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่เคยประสบผลสำเร็จในการลดจำนวนการฆ่าตัวตายจาก 34,500 คน ในปี 2546 ลดลงเหลือ 20,169 คน ในปี 2562 แต่ในปี 2563 จำนวนการฆ่าตัวตายกลับเพิ่มขึ้นถึง 21,081 คน ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สองในญี่ปุ่น โครงการวิจัย “การพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทย” จึงน่าจะช่วยตอบโจทย์และสร้างระบบป้องกัน แก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัวและสังคมไทย
นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทย” เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงสาเหตุการฆ่าตัวตายของคนไทยเราจะมองกันว่าเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวกับภาวะสุขภาพโรคเรื้อรังทั้งทางกายและจิตใจ แนวทางในการป้องกันดูแลและแก้ไขปัญหาก็ควรจะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสุขภาพจิตและกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่จากสถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยในปี 2563 ที่พุ่งสูงถึง 7.35 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปี และหลังจากปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของโควิด-19 จึงทำให้เกิดมุมมองใหม่ว่า สาเหตุของการฆ่าตัวตายนอกจากปัญหาส่วนบุคคลแล้ว ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และแรงบีบคั้นจากภาวะรอบตัวก็เป็นแรงผลักดันให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตายได้
ดังนั้นความรับผิดชอบในการดูแลแก้ไขปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องของบุคลากรหรือหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องที่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนควรจะร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา งานวิจัยโครงการนี้จึงมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนารูปแบบความร่วมมือที่เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและป้องกันการฆ่าตัวตาย
งานวิจัยประกอบด้วย 5 โครงการย่อย คือ
โครงการที่ 1 เป็นการออกแบบระบบความร่วมมือเพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยมีผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัด หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายเป็นแกนกลาง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง ภาคเอกชน บางจังหวัดพระสงฆ์ก็เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขป้องกันการฆ่าตัวตาย ในขั้นต้นได้ทำเป็นโมเดลนำร่องใน 4 จังหวัด คือ ลำพูน นครสวรรค์ กาฬสินธุ์ และนครศรีธรรมราช แต่ละจังหวัดก็มีบริบทในการแก้ไขปัญหาและบุคลากรที่เข้าร่วมแตกต่างกันไป ตามสภาพของปัญหาและประชากรในแต่ละพื้นที่ ในขั้นต้นถือว่าประสบผลสำเร็จในเชิงการสร้างกระบวนการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหา ในขั้นต่อไปทีมวิจัยจะร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัดเพื่อขยายผลไปในจังหวัดอื่น ๆ ให้ครบ 25 จังหวัด ตามโครงการวิจัยฯ
โครงการที่ 2 จากสถิติของคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากการเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น เบาหวาน มะเร็ง หลอดเลือดในสมอง หลอดเลือดหัวใจ และเป็นโรคจิตเวช เช่น โรคจิต และซึมเศร้า ดังนั้นจึงต้องมีระบบและแนวทางที่จะช่วยให้บุคลากรทางด้านสาธารณสุขสามารถคัดกรองและเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย มีแนวทางการขอความช่วยเหลือและส่งต่อจากบุคลากรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
โครงการที่ 3 เป็นการเสริมสร้างพลังให้กับชุมชน เป็นวัคซีนทางใจเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้เกิดขึ้นในระดับชุมชน
โครงการที่ 4 การปรับปรุงระบบการรวบรวมข้อมูลข่าวสารและสถิติการฆ่าตัวตาย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความเหมาะสม ให้ได้ตัวเลขที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อนำมาใช้ออกแบบนโยบายได้อย่างเหมาะสม เพราะปัจจุบันสถิติของคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จได้จากการรวบรวมข้อมูลมรณบัตรเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงข้อมูลที่ลงในมรณบัตรบางส่วนก็ยังไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือมิได้ระบุว่าเป็นการฆ่าตัวตาย เช่น กรณีคนฆ่าตัวตายเพราะกระโดดสะพานแต่ในใบมรณบัตรเขียนว่าเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจจากการจมน้ำ ดังนั้น สถิติคนฆ่าตัวตายของสังคมไทยในปัจจุบันจึงน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ ๆ ที่มีกลุ่มคนเปราะบางทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมเข้ามารวมกันมาก ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร หากพิจารณาในภาพรวมแล้ว สถิติการฆ่าตัวตายของประเทศไทยอย่างเป็นทางการคือปีละ 4,800 คน แต่จากที่ทีมวิจัยลงไปศึกษาจำนวนการฆ่าตัวตายในแต่ละปีน่าจะเกินกว่า 6,000 คน จึงต้องมีการออกแบบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะช่วยให้เกิดการคัดกรอง การสืบสวนสาเหตุของการเสียชีวิต และการลงข้อมูลที่ใกล้เคียงกับความจริงให้มากที่สุด
โครงการที่ 5 เป็นการประเมินผลของ 4 โครงการที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงยุทธศาสตร์ป้องกันการฆ่าตัวตายฉบับปัจจุบันที่มีการใช้อยู่