วช.-สวทช. เปิดตัว 6 นักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2565-2566 รับทุนส่งเสริมผลงานตอบโจทย์และขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วช.-สวทช. เปิดตัว 6 นักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2565-2566 รับทุนส่งเสริมผลงานตอบโจทย์และขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมจัด “งานเปิดตัวนักวิจัยศักยภาพสูงและแถลงงานวิจัย ประจำปี 2565-2566” โดยมี คุณสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ และศาสตราจารย์ กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว 6 นักวิจัยศักยภาพสูง และแถลงความก้าวหน้าผลงานและประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัย ประจำปี 2565-2566 พร้อมด้วยคณะกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ผู้บริหาร วช. ผู้บริหาร สวทช. ผู้บริหารต้นสังกัดนักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงาน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ณ ห้อง Lotus Suite 7 ชั้น 22 บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

คุณสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรและสถาบันความรู้ ซึ่งเป็นพันธกิจและกลไกสำคัญประการหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยในปี 2565 วช. ร่วมกับ สวทช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดตั้งโครงการ “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง”

โดยมีวัตถุประสงค์

1) ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยไทย เพื่อให้เกิดกลุ่มวิจัยที่เข้มแข็ง ทำงานเป็นทีม และมีโครงสร้างการพัฒนานักวิจัยอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับนักศึกษา นักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยรุ่นกลาง จนถึงนักวิจัยอาวุโส

2) สร้างและบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อสร้างผลกระทบ และความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยสอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของประเทศ

3) สร้างโอกาสการวิจัยและการใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ เช่น ด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน ด้านนโยบาย

4) สร้างเครือข่ายการวิจัยระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อผลักดันผลผลิตงานวิจัย รวมถึงการสื่อสารข้อค้นพบทางวิชาการให้กับสังคมและชุมชน และการตอบสนองต่อปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ

โดยนักวิจัยศักยภาพสูงเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติหรือนักวิจัยที่มีศักยภาพเทียบเคียงได้กับนักวิจัยระดับศาสตราจารย์ หรือนักวิจัยความสามารถสูงมีผลงานโดดเด่น วช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักวิจัยและคณะ จะได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ เชื่อมโยงกับการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานการวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศ นำไปสู่การสร้างความเป็นเลิศทางการวิจัยและพัฒนาของประเทศอย่างก้าวกระโดดต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานวิจัยระดับประเทศ เป็นดั่ง “ขุมพลังหลักด้านการวิจัย” ที่ผลักดัน ส่งเสริมการพัฒนาและความแข็งแกร่งระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม โดยอาศัยความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พันธกิจที่สำคัญของ สวทช. มุ่งเสริมสร้างการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ และถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ สร้างผลกระทบต่อประชาชนและสังคมหมู่มาก รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนากำลังคน และการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง วช. และ สวทช. จัดตั้งโครงการ “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง”

สวทช. ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการโครงการ โดยอาศัยกระบวนการบริหารจัดการงานวิจัยและกลไกบริหารโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่ สวทช. มีอยู่ และการส่งเสริมการทำงานของกลุ่มนักวิจัย ให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ สวทช. เป็นผู้รับผิดชอบดูแล เช่น ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพ หรือในด้านธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะช่วยเสริมการทำงานของกลุ่มนักวิจัยที่ได้รับทุนให้บรรลุเป้าหมายตามที่มุ่งหวัง รวมถึงการส่งเสริม ผลักดัน ผลงานวิจัยให้ไปใช้ประโยชน์มากขึ้นในอนาคต หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูงภายใต้ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน จะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ และสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางในอนาคต

 

ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง กล่าวแสดงความยินดีและชื่นชมนักวิจัยและทีมวิจัยที่ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูงที่มีความมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงานวิจัย นอกจากสร้างชื่อเสียงให้นักวิจัยแล้ว ยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับหน่วยงานต้นสังกัด ทั้งนี้การสนับสนุนจากทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง จะช่วยสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณค่า ที่เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง รวมทั้งพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ทีมวิจัย จากรุ่นเล็กเป็นรุ่นกลาง จากรุ่นกลางเป็นรุ่นใหญ่ และรุ่นใหญ่อยู่แล้วอย่างทั้ง 6 ท่าน ที่จะนำความรู้ทางวิชาการ เชื่อมโยงไปสู่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือผลักดันไปสู่นโยบายที่มีประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศต่อไป

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง และประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กองทุนส่งเสริม ววน. กล่าวแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับนักวิจัยทั้ง 6 ท่าน และทีมวิจัยที่ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ทุกท่านล้วนเป็นนักวิจัยระดับแนวหน้าของประเทศ มีผลงานวิจัยโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง เป็นกลไกระดับสูง เป็นทุนวิจัยที่อยู่ในส่วนปลายยอดพีระมิดของนักวิจัยในประเทศไทย ต่อเนื่องจากการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ รุ่นกลาง รุ่นอาวุโส จะช่วยผลักดันการสร้างทีมวิจัยที่เข้มแข็งในการพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานแบบกลุ่มวิจัยจะมีโอกาสที่จะสร้างผลงานวิจัยแบบทวีคูณ มีผลกระทบสูง ต่อยอดและยกระดับผลงานวิจัยได้ดีกว่าการทำงานแบบเดี่ยว และยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยแต่ละคนได้เร็วขึ้น การดำเนินการในลักษณะแบบกลุ่มวิจัยนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น

1) ผู้นำกลุ่มต้องมีกรอบความคิดการเป็นผู้นำ และทีมวิจัยมีการทำงานอย่างเท่าเทียม

2) ตั้งเป้าหมายและพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศในด้านต่าง ๆ

3) มีการบริหารจัดการของกลุ่มวิจัยที่ดี สามารถดำเนินการและส่งมอบผลงานได้ตามระยะเวลาที่กำหนด และ

4) หน่วยงานต้นสังกัดต้องมีความเข้มแข็ง อำนวยความสะดวกให้แก่นักวิจัย ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานด้านต่าง ๆ

ขอให้นักวิจัยนำโอกาสที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยนี้ไปพัฒนาความเป็นเลิศในงานวิจัย ดำเนินการวิจัยสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย สร้างกลุ่มวิจัยที่เข็มแข็ง สามารถแข่งขันไปขอรับทุนวิจัยระดับสูงจากแหล่งทุนอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือการเป็นที่พึ่งพา เป็นคลังสมองของประเทศและระดับนานาชาติ

ผู้ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2565 จำนวน 3 ท่าน ได้แก่

-สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพ ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ ดร.โกวิท พัฒนาปัญญาสัตย์ มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการ “การปรับแต่งเอ็กโซโซมเพื่อการนำส่งยาจำเพาะแม่นยำสำหรับรักษาโรคทางระบบประสาท หัวใจ และหลอดเลือด” โดยมุ่งเน้นการศึกษาบทบาทของเอกซ์ตร้าเซลลูลาร์เวสซิเคิล หรือถุงนอกเซลล์ (EVs) เพื่อการรักษาในโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคสมองขาดเลือด และโรคอัลไซเมอร์

-สาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ได้แก่ ศ.พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล  มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกัมมันตรังสีในอวกาศ” โดยการสร้างเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ในพลาสมาและความปั่นป่วนแม่เหล็กในอวกาศ ซึ่งเป็นสิ่งกำกับการขนส่งของกัมมันตรังสีในอวกาศ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งที่จะเตือนภัยผลกระทบทางสภาพอวกาศ

-สาขาเกษตรศาสตร์ได้แก่ ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช.โครงการ “การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ของกลไกการอยู่ร่วมกันของกุ้งและไวรัสเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกุ้ง” โดยมีเป้าหมายที่จะค้นหาและคัดเลือกชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของไวรัสที่แทรกอยู่ในจีโนมของกุ้ง (EVEs) และ viral copy DNA (vcDNA) ของกุ้ง และศึกษากลไกที่ใช้ในการต้านเชื้อไวรัส เพื่อการประยุกต์ใช้ในการควบคุมโรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกุ้ง

 

ผู้ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2566 จำนวน 3 ท่าน ได้แก่

-สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพ ได้แก่ ศ.นพ.วิศิษฎ์ ทองบุญเกิด มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการ “การค้นหาระบุชนิดและลักษณะเฉพาะของโปรตีนในปัสสาวะที่มีฤทธิ์ยับยั้งหรือกระตุ้นการเกิดนิ่วไตชนิดแคลเซียมออกซาเลทแบบครอบคลุม” โดยจะระบุชนิดและคุณลักษณะของโปรตีนในปัสสาวะที่เป็นตัวยับยั้งหรือกระตุ้นการเกิดก้อนนิ่วในไตจากปัสสาวะของคนปกติและปัสสาวะของผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ่วไตชนิดแคลเซียมออกซาเลท (CaOx) ใช้เทคนิคโปรตีโอมิกส์ร่วมกับเทคโนโลยีชีวภาพอื่น ๆ เพื่อการวินิจฉัย การพยากรณ์โรค และการป้องกันโรคนิ่วไตต่อไปในอนาคต

-สาขาเกษตรศาสตร์ ได้แก่ รศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการ “การเพิ่มขีดความสามารถการปรับปรุงพันธุ์กลุ่มปลาดุก (ปลาดุกอุย ปลาดุกยักษ์ และลูกผสมบิ๊กอุย) เพื่อยกระดับผลผลิตและนวัตกรรมอุตสาหกรรมสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน” โดยศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม และการปรับตัวของปลาดุกอุยภายใต้การคัดเลือกโดยธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีจีโนมิกส์ร่วมกับการวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ทางนิเวศในแหล่งธรรมชาติ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงและผลิตภัณฑ์ปลาดุกให้มีคุณภาพสูง

-สาขาสังคมศาสตร์ ได้แก่ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โครงการ “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งพื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย” เพื่อสร้างแนวทางในการสร้างชุมชนในระดับตำบลและระดับจังหวัดให้มีความเข้มแข็ง เป็นการพัฒนา “พื้นที่ส่วนกลาง” ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการกำหนดความเป็นไปของชุมชนหรือพื้นที่ เพื่อเป็นรากฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทยที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับสังคมไทยต่อไปภายหน้า

 

ผลงานที่จะเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของนักวิจัยศักยภาพสูงทั้ง 6 ท่าน มุ่งเน้นผลสำเร็จ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน และด้านนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า